Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

THE HOLY GRAIL สูตรการลงทุนให้ชนะทุกสภาวะตลาด สไตล์ Ray Dalio เจ้าของกองทุนป้องกันความเสี่ยงอันดับ 1 ของโลก

Ray Dalio เจ้าของบริษัท Bridgewater Associates กองทุนป้องกันความเสี่ยงอันดับที่ 1 ของโลก เจ้าของฉายา The King of Hedge Fund ที่เขาคิดค้นและปรับสูตรการลงทุนสไตล์ของตนเองที่เขาใช้ชื่อว่า “THE HOLY GRAIL”

ซึ่งหากย้อนกลับไปถึงที่มาของคำว่า Holy Grail นั้น จะหมายถึงภาชนะที่พระเยซูทรงใช้รับประทานอาหารเป็นมื้อสุดท้าย ที่เล่ากันว่ามีอำนาจวิเศษ เชื่อกันว่าถ้าใครได้ครอบครองจอกศักดิ์สิทธิ์จะมีอำนาจมากและใครที่ได้ดื่มน้ำจากจอกศักดิ์สิทธิ์จะได้เป็นอมตะ!

ราวกับว่า คุณกำลังใช้สูตรของเกม Contra ขึ้น ขึ้น ลง ลง ซ้าย ขวา ซ้าย ขวา บี เอ สตาร์ท! กันทีเดียว

และหากพูดถึงในวงการ Trader ที่ซื้อขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรนั้น Trader ส่วนใหญ่ต่างก็มองหาระบบการเทรดหรือเครื่องมือและวิธีทำกำไรที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด หรือจะพูดง่าย ๆ ว่า มีวิธีใดบ้างที่สามารถเอาชนะตลาดการลงทุนได้กำไรแบบ 100% เพราะ Trader ส่วนใหญ่ อย่างเก่งเลย แค่มีระบบที่สามารถชนะตลาดการลงทุนได้แค่เพียง 50% ก็ถือว่าหรูมากแล้ว ดังนั้นการตามหาระบบที่ชนะ 100% นั้น แทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ด้วยความรู้และประสบการณ์ในการลงทุนของ Ray Dalio นั้น เขาหลงใหลกับการลงทุนเป็นอย่างมาก จนกระทั่งเขาค้นพบและพัฒนาสไตล์การลงทุนของตนเองขึ้นมาได้ และเมื่อลองนำไปใช้แล้วก็พบว่า มันทำให้พอร์ทการลงทุนของเขานั้น มีแต่จะโตวันโตคืน โอกาสในการขาดทุนน้อยมาก จนทำให้บริษัท Bridgewater Associates กลายเป็นบริษัทที่บริหารและป้องกันความเสี่ยงของกองทุนอันดับ 1 ของโลก ส่งผลให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 88 ของโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินรวมอยู่ที่ 20,300 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือกว่า 636,973 ล้านบาท

เริ่มต้นกันด้วยคำถามที่ว่า “การลงทุนแบบใดให้ผลกำไรมากที่สุด?” คำตอบของ Ray Dalio ก็คือ “หากอยากได้กำไรสูงที่สุด ให้โฟกัสไปที่การลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด” เพราะคนส่วนใหญ่มักจะมองแต่ด้านบวกไม่ค่อยมองด้านลบ เพราะเราต่างก็รู้กันดีอยู่แล้วว่าการลงทุนนั้น High Risk High Return ที่แปลได้ว่า หากอยากได้กำไรมาก ก็มีความเสี่ยงมากตามมาด้วยเช่นกัน

The Holy Grail by Ray Dalio

จากกราฟที่ดูจะมีตัวเลขดูยาก ๆ เต็มไปหมด แต่เดี๋ยวเราค่อย ๆ ไปกันทีละสเต็ปกันนะครับ

ขั้นแรก ให้เราดูที่กราฟแนวตั้งกันก่อน มันคือค่าความผันผวน หรือตัวเลขความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในการลงทุน ยิ่งกราฟอยู่สูง ความเสี่ยงที่จะสูญเงินก็สูงตามไปด้วย

ต่อมากราฟแนวนอน แทนจำนวน Asset หรือจำนวนสินทรัพย์ที่เข้าไปลงทุน เช่น ลงทุนในตลาดหุ้น, ลงทุนในทองคำ, ลงทุนในอสังหาฯ หรือลงทุนใน crypto เป็นต้น

ต่อมาให้ดูในกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่เขียนว่า correlation ที่หมายถึง ความสัมพันธ์หรือความเกี่ยวข้องกันของแต่ละ Asset เช่น บริษัทโค้กกับเป๊ปซี่ จะมีค่า correlation ที่สูงมาก เพราะเป็นบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โมเดลธุรกิจก็เหมือน ๆ กัน และแข่งขันกันโดยตรง ในขณะที่ถ้าเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยกับบริษัทขุดเจาะน้ำมันที่ซาอุดิอาระเบีย เป็นบริษัทพลังงาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองธุรกิจมีค่า correlation ที่ต่ำกว่ากรณีแรก เพราะนอกจากจะอยู่คนละอุตสาหกรรมแล้ว ยังอยู่คนละประเทศอีกต่างหาก

กลับมาดูที่กราฟกันต่อ เริ่มต้นกันที่หากสินทรัพย์ตัวแรกที่เราลงทุนนั้น มีความเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 10% และสมมติว่าสินทรัพย์ตัวนี้เรามีโอกาสได้กำไร 10% หากเราลงทุนในสินทรัพย์เพียงแค่ 1 ตัว เราจะมีความเสี่ยงเต็ม ๆ คือ 10% และมีโอกาสได้กำไร 10% นั่นเท่ากับว่า ลงทุนตัวนี้ตัวเดียว ไม่หมู่ก็จ่าล่ะงานนี้ ความหมายคือ หากลงทุนตัวนี้ตัวเดียวก็เตรียมเสี่ยงทายโยนเหรียญหัวก้อยแล้วผ่านไป 1 ปี รอดูได้เลยว่า สินทรัพย์ตัวนี้จะได้กำไร 10% หรือขาดทุน 10%

แต่เมื่อหาสินทรัพย์มากกว่า 1 ตัว แล้วสมมติว่าสินทรัพย์ตัวนั้นประเมินมาแล้วว่า มีความเสี่ยงอยู่ที่ 10% และมีโอกาสทำกำไร 10% เท่า ๆ กันกับสินทรัพย์ตัวแรก ก็จะพบว่า หากเราลงทุนสินทรัพย์จำนวนมากเท่าไหร่ ความเสี่ยงก็จะยิ่งลดลงมากเท่านั้น แต่เมื่อลงทุนในสินทรัพย์จำนวน 15-20 ตัวแล้ว จากกราฟจะพบว่า ต่อให้เราลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมากกว่านี้ ค่าความเสี่ยงก็ไม่ได้ลดลงฮวบฮาบแล้ว

ดังนั้นต่อให้มีสินทรัพย์ที่น่าลงนับร้อยตัว แต่การเลือกลงทุนในสินทรัพย์จำนวน 15-20 ตัว ก็ให้ผลลัพธ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก และการที่เราเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่จำนวนมากเกินไป กลับกลายเป็นภาระกับตัวเราเอง ทั้งเวลาและความรู้ในการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้น ๆ แถมยิ่งสินทรัพย์เยอะ ก็ยิ่งจัดการได้ยาก monitor ก็ยากขึ้นด้วย เพราะดูไมหวาดไม่ไหว

และนอกจากนั้นความเสี่ยงมันจะลดลงไปอีกหลายเท่าตัว หากสินทรัพย์แต่ละตัวนั้น มีค่า correlation หรือค่าความเกี่ยวข้องที่น้อยลง

ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเส้นแดง ที่แม้จะลงทุนกระจายความเสี่ยงไปใน 15-20 สินทรัพย์ แต่ดันมีค่า correlation หรือความเกี่ยวข้องกันสูง ทำให้มีโอกาสขาดทุนสูงถึง 38% ต่อไป แต่ในขณะที่เส้นเขียว ก็ลงทุนในสินทรัพย์จำนวน 15-20 ตัวเช่นกัน แต่หากแต่ละตัวมีค่า correlation ที่ต่ำมาก เรียกได้ว่า สินทรัพย์แต่ละตัวแทบไม่เกี่ยวข้องกันเลย ทำให้ความเสี่ยงในการขาดทุนลดต่ำลงเหลือเพียง 11% – 12% เท่านั้น

ทั้ง ๆ ที่ ทั้งเส้นแดงและเส้นเขียวนั้น ยังคงได้ผลกำไรในอัตราเท่าเดิม แต่เส้นเขียวกลับมีความเสี่ยงลดลงกว่าเส้นแดงถึง 3 เท่า ส่งผลให้มีโอกาสทำกำไรได้สูงกว่า 4 เท่าตัว นั่นเท่ากับว่ามันก็ตรงกับประโยคช่วงแรก ๆ ที่ Ray Dalio พยายามจะสื่อก็คือ ถ้าหากอยากได้กำไรที่มากขึ้น จงจำกัดความเสี่ยงให้ลดลง

ลองมาดูตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพมากยิ่งขึ้นกัน โดยหากลงทุนในตลาดหุ้น ก็ให้ลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกันมากที่สุด เช่น แบ่งไปลงธุรกิจพลังงาน, ธุรกิจเทคโนโลยี, ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือจะเป็นธุรกิจความงาม เป็นต้น

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไม Ray Dalio เขาถึงเลือกที่จะลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงไปในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เพราะจากค่ากราฟที่เห็นนั้น มาจากการคำนวณทางคณิตศาสตร์ หากคุณเชื่อในหลักของสถิติและหลักของคณิตศาสตร์แล้วล่ะก็ กราฟ The Holy Grail นั้นมันก็ดูสมเหตุสมผลดี

โดย Ray Dalio เคยพูดเอาไว้ว่า

“The magic is you only need to do this simple thing. The simple thing is to find 15 or 20 good uncorrelated return streams.”

หมายถึง “ความมหัศจรรย์ของสูตรนี้ก็คืองานเบสิค ๆ ที่ว่า ให้คุณมองหาสินทรัพย์ที่น่าลงทุนจำนวน 15 – 20 ตัว ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยลงในพอร์ทการลงทุนของคุณ”

– Ray Dalio –

ตัวอย่างของการที่เราจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน อย่างกรณีถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้น ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ธุรกิจในหมวดหมู่ของการท่องเที่ยวซบเซาลงมาก เพราะคนไม่ท่องเที่ยวกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าธุรกิจที่อยู่ในหมวดหมู่ท่องเที่ยว อาทิเช่น สายการบิน โรงแรม ร้านอาหาร ลองคิดดูว่า หากพอร์ทการลงทุนของเรา ในบรรดา 15-20 ตัวนั้น กลับมีธุรกิจที่อยู่ในหมวดหมู่เดียวกันซะเยอะ ทำให้พอเกิดวิกฤตหรือตลาดขาลงแค่ครั้งเดียว ก็ทำให้การลงทุนแบบนี้ มีโอกาสขาดทุนสูงมาก

แต่ในขณะที่หากกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในหมวดหมู่ค้าปลีกออนไลน์ จะพบว่า ในช่วงเดียวกันนี้นี่เองที่กลับมีการเติบโตที่สูงขึ้น เพราะเมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้นลดการออกไปข้างนอก คนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะสั่งของออนไลน์กันมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นหากในพอร์ทการลงทุนของเรามีทั้งหมวดท่องเที่ยวและหมวดช้อปปิ้งออนไลน์อยู่ มันก็สามารถที่ช่วยพยุงพอร์ทไม่ให้ขาดทุนมากจนเกินไป

ต่อมาเป็นการลงทุนที่แตกต่างกันออกไปอีก ยกตัวอย่างเช่น กรณีก่อนหน้านี้คือการลงทุนในตลาดหุ้น แล้วถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลงหรือตลาดหมีขึ้นมาล่ะ ต่อให้กระจายลงทุนในหุ้นที่อยู่กันคนละหมวดหมู่กัน มันก็พากันลงเกือบทั้งกระดานอยู่ดี

ดังนั้นความแตกต่างในการลงทุนที่สามารถกระจายความเสี่ยงได้อีกก็คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีประเภทที่แตกต่างกัน เช่น กรณีถ้าตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่ในขณะนั้นตลาดทองคำและตลาดอสังหาริมทรัพย์กลับเป็นขาขึ้น นั่นเท่ากับว่า หากเราแบ่งการลงทุนในทองคำและอสังหาริมทรัพย์ลงในพอร์ทของเราเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ทั้งหมดจำนวน 15-20 ตัวนั้น ก็จะทำให้ แม้ตลาดหุ้นเป็นขาลง แต่พอร์ทเราก็ยังมีทองคำที่ช่วยพยุงพอร์ทให้มีโอกาสขาดทุนน้อยลง และมีโอกาสทำกำไรได้อยู่นั่นเอง

สรุปคร่าว ๆ อีกครั้งของกฎ The Holy Grail by Ray Dalio

  • คุณจำเป็นที่จะต้องยอมรับก่อนว่า คุณไม่มีทางรู้หรอกว่า สินทรัพย์ตัวไหนและเมื่อไหร่จะปังหรือจะแป๊ก
  • การลงทุนที่ดีจะต้องลดความเสี่ยงให้ต่ำที่สุด ไม่ใช่มองหาการลงทุนที่ให้ผลกำไรมากที่สุด เพราะอะไรที่กำไรมาก ความเสี่ยงก็มากด้วยเช่นกัน
  • มองหาสินทรัพย์ที่น่าลงทุนและมีค่า correlation ที่ต่ำ หรือมีค่าความเกี่ยวข้องกันให้น้อยที่สุด จำนวน 15-20 ตัว
  • ยิ่งแตกต่างกันได้เท่าไหร่ยิ่งดี เช่น สินทรัพย์คนละอุตสาหกรรม, สินทรัพย์คนละประเภท ยิ่งคนละประเทศได้ยิ่งดี

หมายเหตุ: นี่ไม่ใช่ Financial Advice ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน เป็นเพียงการนำเสนอเนื้อหาในเชิงศึกษาเท่านั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาและตัดสินใจลงทุนด้วยตัวของท่านเอง

Resources