Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

ประวัติ Ray Kroc ผู้ปลุกปั้น McDonald’s ร้านอาหาร Fastfood อันดับ 1 ของโลก

แฮมเบอร์เกอร์ จากเมนูที่ดูธรรมดา ๆ สู่การเป็น The King of Fast Food หรือกลายเป็นราชาของเหล่าบรรดาอาหารจานด่วน ที่ไม่ใช่เฉพาะชาวอเมริกันเท่านั้น แต่หมายถึงมันได้กลายเป็นอาหารของคนทั้งโลก ซึ่งแน่นอนว่า หากพูดถึงแฮมเบอร์เกอร์และอาหารฟาสต์ฟู้ด แทบทุกคนจะต้องรู้จักชื่อของ McDonald’s อย่างแน่นอน และชายผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันให้ร้านแมคโดนัลด์เติบโตกลายเป็นแบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอันดับที่ 1 ของโลกได้นั้นก็คือชายที่ชื่อว่า Ray Kroc นั่นเอง

ชีวิตในวัยเด็ก

ประวัติ Ray Kroc หรือชื่อเต็ม ๆ ของเขาคือ Raymond Albert Kroc เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ปี 1902 ที่หมู่บ้าน Oak Park ที่อยู่ติดกับเมือง Chicago ในรัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา แต่พ่อและแม่ของเขามีเชื้อสายต้นตระกูลที่มาจากประเทศสาธารณรัฐเช็ก(Czech)

โดยพ่อของเขาชื่อว่า Alois Louis Kroc ทำงานอยู่ในบริษัทที่เกี่ยวกับโทรเลข ซึ่งพ่อของเขานั้นเป็นคนที่มีวินัยในการทำงานที่สูงมาก จนสามารถไต่เต้าไปถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้ และนอกจากนั้นพ่อของเขายังคลั่งไคล้กับกีฬาอย่างเบสบอลเป็นอย่างมาก (ซึ่งนั่นก็กลายเป็นความคลั่งไคล้ของ Ray ที่ได้มาจากพ่อของเขาแบบเต็ม ๆ อีกด้วย)

ส่วนแม่ของเขามีชื่อว่า Rose Mary nee Hrach เธอเกิดและเติบโตในรัฐ Illinois เป็นผู้หญิงที่น่ารักและเป็นแม่บ้านที่ดี และนอกจากนั้นเธอยังสามารถเล่นเปียโนได้อย่างไพเราะ จนสามารถทำเป็นอาชีพเสริมในการสอนเปียโนให้กับเด็กและผู้ใหญ่ที่สนใจจะเรียนเปียโนกับเธอ และ Ray ก็ได้สกิลในการเล่นเปียโนมาจากแม่ของเขานั่นเอง

Ray คือลูกชายคนโตสุดของครอบครัว โดยมีน้อง ๆ อีกสองคนคือ Robert กับ Lorraine

เมื่อตอนที่ Ray เรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียน Lincoln School ในเมือง Oak Park นั้น เขาฉายแววและมีพรสวรรค์ในด้านการดีเบตหรือการพูดอภิปรายเป็นอย่างมาก โดยในตอนนั้นเป็นหัวข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับผลกระทบของการสูบบุหรี่ ทำให้เขานั้นมีความสามารถในการโน้มน้าวให้ผู้อื่นเห็นคล้อยตามด้วยได้อย่างง่ายดาย

ต่อมาเมื่อตอนที่ Ray เรียนอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษา เขาก็เริ่มหารายได้เสริมด้วยการใช้เวลาว่างจากการเรียนเพื่อไปรับจ๊อบในร้านขายของชำและร้านขายยา ภายหลังจากนั้นเขาก็ได้ตั้งร้านขายน้ำมะนาวที่บริเวณหน้าบ้านของเขาเอง และนั่นคือครั้งแรกที่เขาเริ่มต้นสู่เส้นทางของการทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหาร

ในปี 1916 ตอนที่ Ray อายุได้ 14 ปี เขาได้รวมกลุ่มกับเพื่อนอีกสองคน เพื่อเปิดธุรกิจในการขายแผ่นเพลง โดยตั้งชื่อร้านว่า ‘Ray Kroc Music Emporium’ โดยเขาใช้ทักษะการเล่นเปียโนที่ได้มาจากแม่ของเขา ในการเรียกแขกในระหว่างที่เขาและเพื่อน ๆ ทำการขายแผ่นเสียง แต่ธุรกิจนี้ก็ทำได้อยู่ได้ไม่กี่เดือน ก็ได้ปิดตัวลงไป

ซึ่งหลังจากนั้น เขาก็ได้มีโอกาสไปทำงานกับลุงของเขาที่เปิดร้านขายน้ำอัดลมอยู่ ซึ่งที่นี่ทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะในการขาย และวิธีการเป็นนักขายหรือ salesman ที่ดีขึ้น โดยสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ก็คือ ในตอนที่เขาทำการขายหากเขายิ้มเล็กน้อย บวกกับมีท่าทีกระตือรือร้นในการขาย จะทำให้ยอดขายของเขาสูงขึ้นกว่าปกติ

ต่อมาในปี 1917 ที่โลกเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 1 Ray มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพ โดยเฉพาะในตำแหน่งพลขับในหน่วยของพยาบาลทหาร แต่ติดตรงที่ตอนนั้น เขายังมีอายุเพียง 15 ปี ยังไม่ถึงเกณฑ์ที่จะออกรบได้

แต่เขาก็ยังไม่ละความพยายามที่จะเข้ากองทัพให้จงได้ เขาจึงทำการโกหกเรื่องอายุที่แท้จริงของตัวเอง และออกจากโรงเรียนกลางคัน จนทำให้เขา สามารถเข้าหน่วยสภากาชาดของอเมริกัน และถูกส่งไปฝึกการเป็นพยาบาลฝึกหัด และถูกส่งไปประจำการที่ประเทศฝรั่งเศส ทำให้เขาอดเข้าร่วมกับกองทัพแนวหน้า เพราะกว่าที่เขาจะถูกส่งตัวกลับมา สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ได้สิ้นสุดไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และหลังจากที่ Ray กลับถึงบ้าน พ่อก็ของเขาก็ยืนกรานเสียงแข็งเพื่อไล่เขากลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน Lincoin ให้จบระดับชั้นมัธยมซะก่อน แน่นอนกว่าเขารับปาก และเป็นอีกครั้งที่เขานั้นแอบลาออกจากโรงเรียน เพื่อไปผจญภัยและเผชิญหน้าในชีวิตของโลกแห่งความเป็นจริงที่รอเขาอยู่

ชีวิตวัยเริ่มต้นทำงาน

โดยในปี 1919 ตอนที่เขาอายุได้ 17 ปี เขาเริ่มต้นในสายอาชีพของการเป็นนักขาย ซึ่งก็รู้ ๆ กันอยู่ว่า เงินเดือนของนักขายมันไม่พอกิน เพราะรายได้ส่วนใหญ่มันมาจากค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากการที่จะต้องขายของให้ได้ซะก่อน ทำให้ในระหว่างนั้น เขาจึงจำเป็นต้องหารายได้เสริม ด้วยการไปเล่นเปียโนตามไนท์คลับในตอนกลางคืน บ้างก็ไปเป็นดีเจเปิดแผ่นที่สถานีวิทยุกระจายเสียงในพื้นที่

รวมไปถึงรับจ็อบเพื่ออ่านค่า ticker tape ในตลาดหุ้น จากนั้นเขาก็เริ่มเดินสายในการเป็นนักขายอย่างเต็มตัว โดยเขาขายไม่เลือกหน้า อะไรที่สามารถขายได้ขายหมด โดยเขาเคยขายตั้งแต่เครื่องประดับจุ๊ก ๆ จิ๊ก ๆ ให้กับสาว ๆ จนไปถึงการเป็นนายหน้าอสังหาฯ ในเมือง Fort Lauderdale รัฐ Illinois ก็เคยขายได้มาแล้วด้วย

จนกระทั่งในปี 1923 ตอนที่เขาอายุ 21 ปี ก็ได้ทำงานเป็น salesman ที่เป็นหลักเป็นแหล่งกับบริษัท Lily Tulip Paper Cup Company ที่เป็นบริษัทขายถ้วยกระดาษสำหรับใส่เครื่องดื่ม และด้วยความที่เขายังหนุ่มยังแน่น มีความทะเยอทะยานสูงและเป็นคนที่หนักเอาเบาสู้ เขาจึงทำการเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อไปนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัท โดยเขามักมีเซ็นต์ที่ดีประกอบกับการค้นคว้าหาข้อมูลว่าจะต้องไปขายที่ไหน ขายอย่างไร และขายให้ใคร

โดยสิ่งที่เขาขายนั้นไม่ใช่ขายถ้วยกระดาษเพราะว่ามันเป็นถ้วยกระดาษ แต่เขาขายมันเพราะเจ้าถ้วยกระดาษนั้นสามารถช่วยให้ธุรกิจของลูกค้าดีขึ้นอย่างไรได้บ้าง โดยเขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเทคแคร์ลูกค้า และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทำให้หลังจากที่เขาทำงานอยู่ที่นี่ได้ไม่นาน Ray ในวัย 23 ปี ก็ได้กลายเป็นหนึ่งใน Top Sales ที่ถือว่ามียอดขายสูงที่สุดในบริษัทอีกด้วย

ต่อมาในปี 1938 ในขณะที่ Ray กำลังเดินทางเพื่อขายถ้วยกระดาษทั่วประเทศอยู่นั้น เขาก็ได้พบปะกับลูกค้าคนหนึ่งซึ่งเป็นชายนักประดิษฐ์ที่ชื่อ Earl Prince ซึ่งเป็นผู้คิดค้นเครื่อง Multimixer ซึ่งอันที่จริงมันก็คือเครื่อง milkshake mixer ที่แต่เดิมในตลาดทั่วไปจะสามารถทำ milkshake ได้ทีละแก้ว แต่เจ้าเครื่องนี้ทำได้ทีละ 5 แก้วพร้อมกัน ที่สามารถปั่นน้ำได้มากถึง 40 แก้วใน 1 นาที เขาจึงตั้งชื่อนิกเนมให้มันว่า ‘Multishaker’

และหลังจากที่เขาขายถ้วยกระดาษมามากกว่า 16 ปี กับบริษัท Lily Tulip Paper Cup Company เขาก็เริ่มอิ่มตัว ประกอบกับตั้งแต่ที่เขาเจอเจ้าเครื่อง milkshake ของ Earl Prince ในใจเขาก็คิดตลอดว่า มันน่าจะเป็นโอกาสใหม่ ๆ ในการเติบโตไปอีกขั้น เขาจึงเลือกที่จะรับข้อเสนอของ Earl Prince ที่เขาจะได้รับสิทธิ์ในการทำการตลาดและการขายแต่เพียงผู้เดียวในผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ ทำให้ Ray Kroc ในวัย 37 ปี ตัดสินใจทิ้งการงานที่มั่นคง เพื่อไปลุยเต็มตัวกับ Earl Prince ในบริษัท Prince Castle เพื่อขายเจ้า Multimixer เครื่องนี้

และก็ดูเหมือนธุรกิจนี้จะไปได้สวย เพราะในช่วงปีแรก ๆ นั้น เขาสามารถขายเจ้าเครื่อง Multimixer ได้มากกว่า 8,000 เครื่อง ในเวลาอันรวดเร็ว โดยกลุ่มลูกค้าหลักของเขานั้นเป็นกลุ่มร้านอาหารและร้านขายเครื่องดื่มซะเป็นส่วนใหญ่ จนกระทั่งความต้องการของผู้บริโภคในตลาดนี้เปลี่ยนไป เริ่มซบเซาลง

เหตุผลก็เพราะหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีนโยบายให้บุคคลทั่วไปซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ แถมยังมีการปฏิวัติวงการในอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกาทำให้มีจำนวนรถเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า และนอกจากนั้นยังมีการก่อสร้างระบบทางหลวงระหว่างรัฐจากในเมืองไปยังชานเมืองได้สะดวกสบาย ทำให้ผู้คนเริ่มสัญจรและไปอาศัยอยู่ชานเมืองกันมากขึ้นส่งผลให้การเติบโตของร้านอาหารและร้านขายน้ำโซดามีอัตราการเติบโตที่ลดลง บวกกับมีคู่แข่งเจ้าใหญ่อย่าง The Hamilton Beach ที่เป็นบริษัททำเกี่ยวกับเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการทำอาหาร ลงมาเล่นตลาดนี้ด้วย Ray จึงรู้สึกว่าตลาดนี้มันแข่งขันดุเดือดกันมากเกินไป

ช่วงการเปิดร้าน McDonald’s

และในปี 1954 ตอนที่ธุรกิจขายเครื่อง mixer กำลังซบเซาอยู่นี่เอง Ray กลับสังเกตเห็นว่า มีลูกค้าที่เป็นเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในเมือง San Bernardino กลับสั่งเครื่อง Multimixer เยอะขึ้น ๆ สวนกระแสกับร้านอื่น ๆ ทำให้ Ray เกิดความอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาว่าเป็นร้านอาหารแบบไหน เขาจึงเดินทางไปร้านแล้วก็พบว่า จุดเด่นของร้านนี้คือ เป็นร้านอาหารที่ไม่มีที่นั่งในร้านให้ โดยเป็นการสั่งอาหารแบบ Drive-in ที่ให้ลูกค้าขับรถเข้ามาจอดเพื่อสั่งซื้ออาหารแล้วกินในรถของตนเอง โดยเจ้าของร้านนี้ขับเคลื่อนโดยสองพี่น้องชาวอังกฤษที่ชื่อ Richard และ Maurice McDonald

ย้อนกลับไปเมื่อปี 1948 สองพี่น้อง McDonald Richard และ Maurice ได้สังเกตเห็นการเจริญเติบโตของธุรกิจรถเข็นยืนขายฮ็อตด็อกได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ในภาวะเศรษฐกิจที่ตึงเครียดและถดถอย ทำให้จุดประกายแก่สองพี่น้องที่มีความฝันอยากเป็นเศรษฐีเงินล้านแบบ American Dream ที่ต้องการจะเปิดร้านอาหารที่ไม่เหมือนกับร้านอาหารทั่วไป แต่เป็นร้านอาหารที่สามารถขับรถยนต์เข้ามาซื้ออาหารได้ พร้อมกับมีที่จอดรถอย่างกว้างขวาง

โดยทั้งสองพี่น้องตัดสินใจเปิดร้านอาหารแบบ drive-in ในปี 1948 นี้ ในเมือง San Bernardino รัฐ California โดยใช้นามสกุล McDonald เป็นชื่อร้าน และมีโลโก้ เป็นชายที่มีหน้าตาเป็นขนมปังแฮมเบอร์เกอร์ใส่ชุดเชฟแบบเต็มยศที่กำลังทำท่าวิ่งอย่างรวดเร็วอยู่ โดยมีฉายาว่า ‘Speedee’ ที่กลายเป็นคำที่ยึดถือเป็นหัวใจหลักสำหรับองค์กรนี้ว่า จะต้องส่งมอบแฮมเบอร์เกอร์ที่อร่อยได้อย่างรวดเร็วนั่นเอง

และเมื่อ Ray ลองมองดูรอบ ๆ ร้านก็พบว่า ร้านนี้ใช้วิธีการขายแบบสายพานการผลิตที่ใช้พนักงานในการเตรียมอาหารในปริมาณมาก ไม่มีพ่อครัว และที่สำคัญพนักงานแต่ละคนทำอาหารไม่เป็นด้วยซ้ำ! ยกตัวอย่างเช่น

  • มือทอดเนื้อ จะทำหน้าที่ทอดเนื้อเพียงอย่างเดียว
  • มือขนมปังจะเอาส่วนประกอบทุกชิ้นมาประกบกัน
  • มือบีบซอส จะบีบแค่ซอสมะเขือเทศกับมัสตาร์ดบนขนมปังท่อนบน
  • ส่วนประกอบต่าง ๆ ของแฮมเบอร์เกอร์จะถูกกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น จะต้องใส่ผักดอง 2 ชิ้น และความหนาของเนื้อทอดจะต้องหนา 0.5 นิ้ว และจะต้องใส่หัวหอมสับจำนวน 12 ชิ้นพอดี ฯลฯ

แต่กลับใช้เวลาในการเสิร์ฟถึงมือลูกค้าอย่างรวดเร็ว โดยเฉลี่ยจะใช้เวลาผลิตแฮมเบอร์เพียง 30 วินาทีต่อชิ้น และนอกจากนั้นทางร้านยังมีเนูให้เลือกอยู่อย่างจำกัด จากเดิมที่มีเมนูอาหารถึง 25 เมนู แต่เพื่อความรวดเร็วและสะดวกในการเตรียมวัตถุดิบทำให้ลดมาเหลือแค่เพียง 9 เมนูเท่านั้น โดยมีเพียง cheeseburgers, hamburgers, fries, เครื่องดื่ม และ milkshakes ที่ซื้อเครื่องจาก Ray ถึง 8 เครื่องด้วยกัน โดยแต่ละเครื่องนั้นมีราคาอยู่ที่เครื่องละ $150 ที่ถือว่าแพงมากในสมัยนั้น

โดย Ray ได้ลองพูดคุยสอบถามกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในแถบนั้นว่าเพราะเหตุใดพวกเขาจึงเลือกที่จะมาซื้ออาหารที่ร้านนี้

Ray: Say, what’s the attraction here? (อะไรคือสิ่งที่ดึงดูดให้คุณมาซื้ออาหารที่ร้านนี้?)

Customer: Never eaten here before? (คุณไม่เคยกินอาหารที่ร้านนี้มาก่อนเลยหรอ?)

Ray: Nope. (ไม่เคยครับ)

Customer: Well, you’ll see. You’ll get the best hamburger you ever ate for fifteen cents… And you don’t have to wait and mess around tipping waitresses. (โอเค, คุณจะสังเกตเห็นได้ว่า ที่นี่คุณสามารถซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่สุดแสนอร่อยได้ในราคาเพียง 15 cents เท่านั้น(ตีเป็นเงินบาทในสมัยนั้นก็น่าจะราว ๆ 5 บาท) และนอกจากนั้น คุณยังไม่ต้องใช้เวลารอเนิ่นนานในการสั่งอาหาร และไม่ต้องคอยปวดหัวด้วยว่ามื้อนี้จะต้องให้ทิปพนักงานกี่บาทอีกด้วย)

โดยลูกค้าส่วนใหญ่มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาหารที่นี่ราคาไม่แพง แถมแฮมเบอร์เกอร์กับเฟรนฟรายก็ยังรสชาติดีอีกด้วย

และเมื่อ Ray ได้ฟังดังนั้น เขาก็เกิดจินตนาการขึ้นว่า มันคงจะเจ๋งน่าดูถ้ามีร้าน McDonald’s กระจายอยู่ตามทุกซอกทุกมุมทั่วประเทศ เพราะเพียงแค่จินตนาการว่าเขาได้ขายเครื่อง Multimixer ให้ทุกสาขาของ McDonald’s สาขาละ 8 เครื่อง ก็เป็นเงินมหาศาลแล้ว

Ray จึงไปขายฝันให้กับสองพี่น้อง McDonald เกี่ยวกับการขยายสาขา แต่ทั้งสองพี่น้อง McDonald ก็ไม่ได้สนใจอะไรสักเท่าไหร่นัก แต่อย่างน้อย Ray ก็สามารถโน้มน้าวให้ทั้งสองพี่น้อง McDonalds นั้นมอบสิทธิ์ในการใช้วิธีและกระบวนการจัดการของร้าน McDonald’s ให้เขา แน่นอนว่า Ray ในวัย 52 ปี ที่มีโรคประจำตัวรุมเร้าอย่างโรคเบาหวานกับโรคข้อเข่าเสื่อมนั้น เขามองว่านี่คือโอกาสที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตที่เหลือของเขาต่อจากนี้ที่เขาจะต้องไม่พลาดโอกาสนี้ที่จะทำมัน และนั่นก็ทำให้ Ray ได้กลายมาเป็นแฟรนไชส์เซอร์ของ McDonald’s ที่เขานั้นจะเป็นคนที่ขยายสาขาให้เอง

และในวันที่ 15 เมษายน ปี 1955 Ray Kroc ก็ได้เปิดร้านอาหารร้านแรกของเขาในเมือง Des Plaines รัฐ Illinois และในปีเดียวกันนี้เอง เขายังได้เปิดร้านอาหารอีกสองร้าน รวมเป็นสามร้านภายในสิ้นปี 1955 และสามารถทำยอดขายรวมในปีนั้นได้ทั้งสิ้น $235,000 โดยทุกร้านของเขาจะใช้กลยุทธ์และวิธีการเดียวกันกับร้านของสองพี่น้อง McDonalds โดยร้านของเขาจะใส่ใจเรื่องความสะอาดมากเป็นพิเศษ

และเมื่อร้านต้นแบบประสบความสำเร็จ เขาก็เริ่มต้นที่จะขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ที่สนใจร่วมลงทุนในธุรกิจของเขา โดยเขาจะเก็บค่าส่วนแบ่งแฟรนไชส์เป็นจำนวน 1.9% จากยอดขาย แต่ต้องหัก 0.5% เพื่อไปแบ่งให้สองพี่น้อง McDonald ด้วย ผ่านไป 1 ปี เขาสามารถขายแฟรนไชส์ได้กว่า 18 แห่ง โดยสาเหตุที่เขาสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็วนั้นก็เป็นเพราะ ในระหว่างที่เขาตระเวนขายเครื่อง Multimixer ยาวนานกว่า 15 ปีนั้น เขาได้รู้จักกับเจ้าของร้านอาหารอย่างมากมาย ที่พร้อมจะร่วมธุรกิจกับเขา แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ทะลุเป้าของกำไรที่เขาตั้งเอาไว้

นอกจากนั้นในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 1955 ก็ได้ Harry Sonneborn ที่ทุกคนรู้จักกันในนามของประธานบริษัทคนแรกของ McDonald’s เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบแฟรนไชส์ McDonald’s ซึ่งภูมิหลังของเขา เขาเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงในด้านการเงินของแฟรนไชส์ชื่อดังอย่าง Tastee-Freez โดยเขาได้ตัดสินใจลาออกแล้วขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด เพื่อมาลงทุนกับ McDonald’s

โดยเขาได้โน้มน้าวกับ Ray ว่า นอกจากเงินที่สามารถทำได้จากส่วนแบ่งของแฟรนไชส์ซีแล้ว เขายังสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำในอุตสหากรรมอสังหาริมทรัพย์ได้อีกด้วย โดยให้ Ray นั้น ซื้อหรือหาเช่าทำเลสวย ๆ เอาไว้สำหรับให้แฟรนไชส์ซีที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ของเขามาเช่าที่อีกทีหนึ่ง

ทำให้ Ray จัดตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่โดยใช้ชื่อว่า ‘Franchise Realty Corporation’ ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการจะเปิดร้านแฟรนไชส์ของ McDonald’s จะต้องเปิดบนที่ดินของ Ray เท่านั้น (ซึ่งค่าเช่าที่ก็สูงกว่าปกติเท่าไปเพื่อที่จะทำกำไรให้กับ Ray นำไปต่ยอดธุรกิจได้อีกมากมาย) ทำให้ Ray มีรายได้ที่แน่นอนแบบคงที่จากค่าเช่าที่ดินจากแฟรนไชส์ซีเพิ่มเข้ามาอย่างสม่ำเสมออีกช่องทางหนึ่งอีกด้วย

และเพื่อกันเหนียวอีกทางหนึ่งที่นอกจาก Ray จะขายแฟรนไชส์ให้คนอื่นแล้ว เขายังระดมทุนและกู้เงินเพิ่มเพื่อมาเปิดสาขาของตนเองเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย เรียกได้ว่า ณ ตอนนี้ Ray มีรายได้หลากหลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ค่าแฟรนไชส์
  • ค่าเช่าที่
  • รายได้จากการขายในร้านของตนเอง
  • ส่วนแบ่งจากการขายเครื่อง Multimixer

จนมีคำกล่าวว่า ที่ McDonald’s ประสบความสำเร็จอย่างสูงได้นั้น ไม่ใช่เพราะเป็นธุรกิจร้านอาหารแต่เพราะเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงต่างหาก

แต่แล้วก็มีเหตุการณ์เลวร้ายเกิดขึ้น เมื่อ Ray ถูกบริษัทนายหน้าที่ดินโกงเงินเป็นจำนวนมหาศาล แต่เขาก็รอดมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก Harry Sonneborn ที่เดินทางไปขอยืมเงินจากเหล่าบรรดาซับพลายเออร์ที่คอยส่งวัตถุดิบให้กับร้าน McDonald’s เพราะถ้าหากร้าน McDonald’s เจ๊ง ออเดอร์ก็จะหายไปอย่างมหาศาล และในทางตรงกันข้าม หากพวกเขาช่วยให้ McDonald’s เติบโต ก็จะทำให้มีออเดอร์เยอะขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในท้ายที่สุดเหล่าบรรดาซับพลายเออร์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันนั้น ก็ได้กลายมาเป็นมหาเศรษฐีกันทุกคน

ทำให้ในยุค ’50s ร้าน McDonald’s นั้นเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถทำกำไรได้อย่างงดงาม

แต่แนวคิดหลาย ๆ อย่างที่ Ray ได้รับจากมุมมองของนักการเงินนั้น กลับเห็นไม่ตรงกันกับสองพี่น้อง McDonald รวมไปถึงอีกหลาย ๆ เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น Ray เสนอสองพี่น้อง McDonalds ว่า ควรหันมาใช้นมผงที่ผลิตจากส่วนกลางแทน เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิต รสชาติ และลดต้นทุน แต่สองพี่น้องก็ไม่เห็นด้วย

เพราะพวกเขามองว่ามันทำให้วิถีดั้งเดิมนั้นจางหายไป ทำให้พวกเขาเริ่มมีปากเสียงกันหนักขึ้น มีความเห็นไม่ลงรอยกันอย่างรุนแรง

แต่ดูเหมือนผลลัพธ์ที่ได้จากมุมมองของนักการเงินนั้นดูท่าจะเป็นไปได้สวย เพราะมันสามารถทำให้ McDonald’s นั้นมียอดขายแฮมเบอร์เกอร์ทะลุ 100 ล้านชิ้นได้ในปี 1958 มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเดิม และในปี 1959 ก็ทำการฉลองที่มีสาขาแฟรนไชส์ครบ 100 แห่งทั่วประเทศ

แต่ถึงกระนั้น Ray ก็ยังรู้สึกว่าสองพี่น้องตระกูล McDonald นั้น มีแนวคิดที่คอยขัดขวางโอกาสในการเติบโตของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนแบ่งอันน้อยนิด ที่ Ray ได้มาเพียง 1.4% นั้น มันกลายเป็นอุปสรรคในการนำไปใช้ในการต่อทุนเพื่อขยายสาขาใหม่ ๆ โดย Ray เรียกร้องให้สองพี่น้อง McDonald เพิ่มสัดส่วนตรงนี้ แต่ทั้งสองพี่น้องก็ไม่ยอมท่าเดียว

ส่งผลให้ในปี 1961 Ray Kroc ก็ได้ตัดสินใจซื้อกิจการทั้งหมดของ McDonald’s ด้วยเงินสดไปในราคา $2.7 ล้านเหรียญฯ (ซึ่งถ้าหากคิดเป็นมูลค่าเทียบเคียงกับปัจจุบันนั้นเป็นมูลค่ากว่า 700 ล้านบาทเลยทีเดียว) เพื่อครอบครองสิทธิ์ในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว แต่ในสัญญาระบุเอาไว้ว่า ร้านแรกสุดของสองพี่น้อง McDonalds ที่เป็นร้านแรกในเมือง San Bernardino นั้นจะยังเป็นของพวกเขาอยู่ แต่เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นหุ้นส่วนของบริษัท McDonald’s แล้ว ดังนั้น พวกเขาไม่มีสิทธิที่จะใช้ชื่อร้านว่า McDonald’s ทำให้สองพี่น้องนั้นจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อร้าน โดยใช้ชื่อร้านเป็น The Big M

และนอกจากนั้นแล้วพวกเขาจะไม่ได้ส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์ในแฟรนไชส์ McDonald’s นี้เลยสักแดงเดียว

และเมื่อดีลนี้จบลง Ray ยังได้ทำการเปิดร้านใหม่ที่ห่างไปเพียงช่วงตึกเดียวใกล้ ๆ กับร้าน The Big M ของสองพี่น้อง McDonalds เพื่อที่เขาต้องการจะเขี่ยร้านของสองพี่น้องนี้ให้ไปพ้น ๆ ทาง ล้มเลิกและออกจากธุรกิจนี้ไป และจากนั้นภายในปี 1965 Ray ก็ได้ทำการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว จนมีร้านอาหารในเครือรวมกว่า 700 แห่ง กระจายอยู่ตามรัฐต่าง ๆ กว่า 44 รัฐ ทั่วสหรัฐอเมริกา

และเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 1965 โดยราคา ณ วันเปิดตัวอยู่ที่หุ้นละ $22.50(ซึ่ง ณ ปี 2020 มีราคาหุ้นละ $211.56) ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ Ray Kroc รันวงการ ส่งผลให้มี McDonald’s มากกว่า 1,500 สาขาทั่วโลก ซึ่งมันใหญ่โตเกินกว่าที่เขาจินตนาการเอาไว้ซะอีก

และในปีนี้นี่เองที่เขาเลื่อนสถานะตัวเองขึ้นเป็น President ของ McDonald’s และเป็นคนที่คอยเทรนนิ่งให้กับเหล่าบรรดาแฟรนไชส์ซี เพื่อสร้างมาตรฐานในขั้นตอนการทำงานให้สามารถทำงานได้ราวกับเป็นระบบอัตโนมัติ โดยเขาเป็นคนที่คอยกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ อย่างเข้มงวดในการปรุงอาหาร, ขนาดของสินค้า, ขนาดของแพคเกจจิ้ง และอื่น ๆ อีกมากมาย ว่าทุกสาขานั้นจะต้องปฏิบัติเหมือนกันทุกประการ ทำให้รสชาติแฮมเบอร์เกอร์ของ McDonald’s นั้นมีรสชาติเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ

เข้มงวดถึงขนาดที่ต้องจัดตั้ง Hamburger University ซึ่งเป็นสถาบันอบรมสำหรับคนที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์ของ McDonald’s ที่ต้องผ่านการฝึกงานกว่า 500 ชั่วโมง รวมถึงจะต้องผ่านการทำงานในช่วงกะดึกของสาขาใกล้บ้านก่อน และเมื่อผ่านแล้วก็ต้องรอคิวในเปิดสาขาใหม่อีกประมาณ 2 ปี บวกกับเมื่อเปิดร้านได้แล้วก็จะมีทีมงานจากสำนักงานใหญ่มาคอยตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้าและการบริการอย่างเข้มงวดอีกด้วย

โดยเขาได้ดำรงตำแหน่ง President อยู่ 3 ปี ต่อมาในปี 1968 Ray ได้ขึ้นเป็น Chairman ของบอร์ดบริหาร จนถึงปี 1977 และหลังจากปี 1977 ถึง 1984 เขาก็ดำรงตำแหน่งเป็น Senior Chairman จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

และตั้งแต่เขาลงจากตำแหน่ง Chairman ของบริษัท เขาก็เริ่มให้ความสนใจกับวงการกีฬาอย่างเบสบอล โดยในปี 1974 เขาได้ซื้อทีมเบสบอล San Diego Padres มาในราคา $10 ล้านเหรียญฯ และช่วยพัฒนาทีมจนสามารถเข้าไปแข่งขันในรายการ World Series ในสำเร็จในปี 1984 แต่เขาก็ไม่ได้มีชีวิตเพื่อดูแลทีมนี้ต่อ และจากโลกนี้ไปในวันที่ 14 มกราคม ปี 1984 ด้วยวัย 81 ปี

โดยเมื่อตอนที่เขายังมีชีวิตอยู่นั้น ทรัพย์สินมูลค่าโดยรวมของเขาอยู่ที่ $500 ล้านเหรียญฯ

Resources