Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

THE CEO STORY

ประวัติ Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group เจ้าของบริษัทกว่า 400 แห่ง ใน 30 ประเทศทั่วโลก

ใครจะไปคิดว่า เด็กหนุ่มชาวอังกฤษ หัวไม่ดี เรียนไม่จบ ในปัจจุบันกลับพบว่า กลายเป็นเจ้าของธุรกิจกว่า 400 บริษัทใน 30 ประเทศทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ด้วยลำแข้งของตนเอง ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ที่ ณ ปัจจุบัน ตัวเขาเองนั้น ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่า ณ ตอนนี้ บริษัทในเครือมีกี่บริษัทกันแล้ว

จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เขาสามารถบริหารการจัดการอย่างไรกับบริษัทจำนวนมากมายขนาดนี้ โดยยังคงคุณภาพของการให้บริการที่ดีได้ด้วย

และนอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว เรื่องชีวิตส่วนตัวและไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นของเขา ไม่ว่าจะเป็นการขับเรือข้ามมหาสมุทร ขึ้นบอลลูนยักษ์ข้ามทวีป และยังมีวีรกรรมสุดห่ามและท้าทายอีกเยอะแยะมากมาย ทำให้ผู้คนทั่วโลก ยกย่องให้เขาเป็นไอดอลของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีไลฟ์สไตล์ที่สุดเหวี่ยงแบบไม่ลืมอายุกันเลยทีเดียว

Richard Charles Nicholas Branson หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Richard Branson นั้นเกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1950 ที่ประเทศอังกฤษ เมือง Blackheath กรุง London เขาเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง โดยคุณพ่อของเขาคือ Edward James Branson เป็นนักกฏหมายและผู้พิพากษา ส่วนแม่ของเขาคือ Evette Huntley Branson ได้พบกับพ่อของเขาเมื่อตอนทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Air Hostess)

ในช่วงวัยเด็กของริชาร์ดนั้น เขาชอบเล่นกีฬามากกว่าการเรียนหนังสือ และก็มีแววที่จะได้เป็นนักกีฬา พ่อกับแม่ของเขาจึงส่งริชาร์ดไปเรียนที่โรงเรียนเน้นการเล่นกีฬาเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจเรื่องเกรดการเรียนในตำราสักเท่าไหร่นัก และเขาก็ทำได้ดีจนได้กลายเป็นกัปตันทีมรักบี้และคริกเก็ต แต่ก็ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถที่จะเป็นนักกีฬาได้อีกต่อไป แถมยังเป็นโรค Dyslexia หรือโรคบกพร่องในการอ่านหนังสือ ทำให้เขาต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำแทนที่จะเรียนรู้จากหนังสือแทน

และตอนที่เขาอายุได้ 11 ปี ก็เริ่มธุรกิจแรกกับเพื่อนรักที่ชื่อนิคด้วยการ และเพาะเลี้ยงนกแก้วขาย ซึ่งขายได้เป็นจำนวนมากแต่ก็เจ๊งในที่สุด เพราะยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารการจัดการที่ดีพอ ซึ่งเจอปัญหาทั้งมีหนูแอบมากินนกบางตัว และเนื่องจากขยายพันธุ์เร็วจนเกินไป ทำให้มีนกแก้วออกมาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งก่อมลพิษทางเสียง ซึ่งรบกวนเพื่อนบ้านในละแวกนั้น แม่ของเขาจึงตัดสินใจที่จะเปิดกรงทิ้งไว้และปล่อยให้พวกมันบินออกไปในที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ริชาร์ดเสียใจแต่อย่างใด และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ

จนในช่วงก่อนวันอีสเตอร์ เขากับนิคก็ได้เริ่มต้นปลูกต้นคริสมาสต์ขาย โดยนำเมล็ดพันธุ์จำนวน 400 เมล็ด และคาดการณ์ว่า มันจะต้องทำเงินให้กับพวกเขาได้ต้นละ 2 ปอนด์ รวมเป็น 800 ปอนด์ในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะในเวลาต่อมา ได้มีฝูงกระต่ายได้แอบเข้ามากินต้นกล้าของพวกเขาก็แทบไม่เหลือ พวกเขาจึงแก้แค้นเจ้ากระต่ายเหล่านั้นด้วยการล่าพวกมันแล้วนำไปขายให้กับร้านที่รับซื้อเนื้อพวกมัน แม้จะได้เงินไม่เท่าที่พวกเขาคาดหวัง แต่ก็ยังพอถอนทุนคืนได้บ้าง

ซึ่งในปี 1966 อายุ 16 ปี เขาได้เริ่มต้นธุรกิจทำหนังสือแมคกาซีน ที่ชื่อ Student และขายพื้นที่โฆษณาในหนังสือด้วยการส่งจดหมายนับร้อยฉบับ โทรนับร้อยสาย เพื่อเสาะหาผู้สนับสนุนที่ต้องการเผยแพร่สินค้าหรือบริการของพวกเขาผ่านกลุ่มผู้อ่านใน Student โดยมีคุณแม่ของเขาคอยซับพอร์ทในเรื่องต่าง ๆ เช่น การช่วยเขียนจดหมาย, การเสาะหารายชื่อผู้มุ่งหวัง และเงินทุนอีกเล็กน้อย จนกระทั่งได้รับเช็คค่าโฆษณาก้อนแรกเป็นจำนวน 250 ปอนด์ หรือราว ๆ หมื่นกว่าบาท และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมียอดพิมพ์สูงถึง 1 แสนฉบับ

และเนื่องจากริชาร์ดนั้นมีปัญหาบกพร่องในการการเรียนรู้และการอ่าน และต้องการออกไปลุยทำ Student Magazine อย่างเต็มตัว เขาจึงออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยครูใหญ่แสดงความยินดีไปหาริชาร์ดในวันที่เขาเปิดตัวนิตยสาร Student ในฉบับแรกว่า “I predict you will either go to prison or become a millionaire.” ฉันทำนายว่าหลังจากที่เธอออกจากโรงเรียนไปแล้ว ครูคิดว่าถ้าเธอไม่ติดคุกไปซะก่อนก็คงได้เป็นมหาเศรษฐีแน่นอน

แต่ริชาร์ดก็ยังคงรู้สึกว่า ธุรกิจนิตยสารของเขานั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จมากพอตามที่เขาตั้งใจเอาไว้ เขาจึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในปี 1970 เขาจึงตัดสินใจเขาสู่วงการการค้าขายแผ่นเสียง โดยตั้งราคาให้ถูกกว่าร้านทั่ว ๆ ไปอยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเขาไม่มีต้นทุนหน้าร้าน และอาศัยการทำการตลาดจากแมคกาซีน Student ที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นวัยหนุ่มสาว ซึ่งเขาใช้กลยุทธ์เพิ่มเติมอีกอย่างนึงก็คือ แผ่นเสียงที่ขายเหล่านั้น จะต้องเป็นแผ่นเสียงที่หาซื้อได้ยากและหาได้เฉพาะที่เมือง ลอนดอนเท่านั้น โดยให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่านนิตยสารและเขาก็จะส่งของทางไปรษณีย์

แต่ทุกอย่างก็เหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งเกิดการประท้วงหยุดงานของพนักงานไปรษณีย์ ทำให้ไม่สามารถส่งแผ่นเสียงให้กับลูกค้าได้ และเกือบจะล้มละลายกันเลยทีเดียว

ในปี 1971 เขาจึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านขายแผ่นเสียงเป็นที่แรกเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อซึมซับดนตรีก่อนที่จะทำการซื้อแผ่นเสียง โดยก่อนเปิดร้านพวกเขาได้นั่งนับจำนวนผู้คนที่เดินผ่านบริเวณนั้นจนมั่นใจว่า มีผู้คนมากพอที่จะเห็นหน้าร้านของพวกเขา บนถนน Oxford Street ในกรุง London ซึ่งพวกเขาได้ไปเจรจากับเจ้าของร้านรองเท้าในพื้นที่นั้น เพื่อขอเช่าพื้นที่ที่ว่างอยู่ ซึ่งครั้งแรกที่เจ้าของร้านรองเท้าได้ยินว่าพวกเขาจะเปิดร้านขายแผ่นเสียง ก็โพร่งออกมาทันทีเลยว่า “พวกนายไม่มีทางจ่ายค่าเช่าฉันได้แน่ ๆ” แต่ด้วยทักษะการเจรจาของริชาร์ดทำให้เจ้าของร้านรองเท้ายอมในที่สุด แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเริ่มแรกจนกว่าจะเริ่มมีลูกค้าเข้ามาที่ร้านระดับหนึ่งอีกด้วย เพราะในฝั่งของเจ้าของร้านรองเท้ายังไงก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนนั้นทำอะไรอยู่แล้ว และร้าน Virgin Records ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว

และในทุก ๆ วันอาทิตย์ ริชาร์ดกับนิค ก็มักจะไปแจกเบอร์ชัวในช่วงรัศมี 50 เมตร ของร้าน เพื่อแจ้งลูกค้าในละแวกนั้นว่า ในวันจันทร์ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นวันลดราคาพิเศษ และในทุก ๆ คืนวันจันทร์ ก็จะเห็นริชาร์ดแบกกระเป๋าใส่เงินใบใหญ่ไปฝากที่ธนาคารอยู่เป็นประจำ

วิธีที่ริชาร์ดใช้ต้อนรับลูกค้าภายในร้าน Virgin Records ก็คือ ภายในร้านจะมีหูฟังที่สามารถให้ลูกค้าฟังเพลงตัวอย่างในนิตยสารชื่อดังที่ติด Top Chart และมีกาแฟบริการฟรีในร้าน ซึ่งมันทำให้บรรยากาศของร้านนั้นเป็นกันเอง จนเกิดการบอกกันปากต่อปาก และทำให้เกิดลูกค้าขาประจำ ที่กลับมาซื้อซ้ำ ด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ๆ

แต่ก็ใช่ว่าร้านขายแผ่นเสียงของพวกเขาจะไม่มีปัญหา เพราะด้วยระบบการจัดส่งทางไปรษณีย์ที่ยังไม่สามารถ Tracking หรือติดตามผลงการส่งแบบ Real Time อย่างในปัจจุบัน และเวลาที่ลูกค้าบอกว่าพวกเขาไม่ได้รับแผ่นเสียง ทาง Virgin เองก็จำเป็นที่จะต้องส่งแผ่นใหม่ไปให้กับพวกเขา ซึ่งไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า ค่าใช้จ่ายเริ่มสูงกว่ารายได้ และขาดทุนไปกว่า 15,000 ปอนด์  หรือราว ๆ 6 แสนกว่าบาท และนั่นก็เป็นค่าหน่วยกิตการเรียนรู้ที่พวกเขาต้องจ่ายไปในการทำธุรกิจจริง

และเมื่อขาดทุน ก็จำเป็นที่จะต้องเงินทุนมาต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ ซึ่งริชาร์ดได้ออเดอร์ก้อนใหญ่จากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นการรับออเดอร์ครั้งแรกจากต่างประเทศ และด้วยความอ่อนต่อประสบการณ์การ เขาจึงไม่ได้คิดถึงเรื่องของภาษีการส่งออกสินค้า จนกลายเป็นผิดกฏหมายในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้เขาถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 1 คืน และในวันรุ่งขึ้นก็ถูกปล่อยตัวเนื่องจากพ่อและแม่ของเขาได้นำเงินจากการเอาบ้านไปจดจำนองและมาประกันตัวเขาออกไปด้วยเงินจำนวน 30,000 ปอนด์ หรือราว ๆ 1.3 ล้านบาท

ในเวลาต่อมาเขามีโอกาสได้ฟังเพลงเดโมของศิลปินเจ้าหนึ่ง ซึ่งหลังจากฟังแล้ว เขาก็คิดว่า ไม่สามารถปล่อยศิลปินคนนี้ให้หลุดมือไปได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีความคิดที่จะเปิดค่ายเพลงด้วยซ้ำไป จนกระทั่งเขาตัดสินใจเปิดตัว Studio สำหรับบันทึกเสียง โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายในสังกัดของตนเอง จนสามารถขายแผ่นเสียงได้หลายล้านแผ่น ซึ่งทำให้บริษัท Virgin ของริชาร์ดนั้น มีการเงินที่คล่องตัวมากจนหมดปัญหาในเรื่องของเงินทุน ทำให้เขาเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในเวลาต่อมา

1979 เขาได้ซื้อเกาะ Necker Island โดยตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า British Virgin Island จากราคา 6 ล้านดอลล่าร์ หรือราว ๆ 186 ล้านบาท ในราคาเพียง $180,000 หรือราว ๆ 5 ล้านกว่าบาท ซึ่งจะว่าเป็นดวงของเขาก็ได้ เพราะด้วยความที่เจ้าของเกาะคนเก่านั้นร้อนเงิน จึงตัดสินใจขายกรรมสิทธิ์ให้กับริชาร์ด แต่ก็มีข้อแม้จากรัฐบาลว่า จะต้องพัฒนาให้เป็นรีสอร์ทภายใน 4 ปี หากเกินกว่านั้น สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของเกาะจะกลับคืนสู่รัฐบาล โดยให้ถือว่าทุกอย่างเป็นโมฆะ

ในระหว่างนั้นเองที่กิจการของ Virgin ไปได้ด้วยดี เขาจึงใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 30 ล้านบาท) เพื่อพัฒนารีสอร์ทบนเกาะแห่งนี้ ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้จำนวน 30 คน สนนราคาค่าเช่าก็ไม่แพง อยู่ที่คืนละ 65,000 เหรียญฯ หรือคืนละ 2 ล้านบาทเท่านั้นเอง

โดยริชาร์ดยอมรับว่า ตอนแรกสุดนั้นเขาซื้อเพื่อเอาใจแฟนสาวของเขาที่ชื่อ Joan Templeman ก็เท่านั้นเอง ซึ่งในปัจจุบันก็คือภรรยาของเขา และปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน คือ Holly Branson และ Sam Branson

ในปี 1983 อาณาจักรของ Richard Branson นั้นมีมากกว่า 50 บริษัทเข้าไปแล้ว โดยสามารถสร้างยอดขายรวมกันได้กว่า 17 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ กว่า 500 ล้านบาท) ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้สนใจในธุรกิจการทำสายการบิน มีจุดเริ่มต้นมาจากในระหว่างที่ริชาร์ดกำลังเดินทางไปยังประเทศเปอร์โตริโกกับภรรยาของเขา แต่เที่ยวบินของเขาถูกยกเลิก ซึ่งติดอยู่ที่อยู่เกาะ ๆ หนึ่ง ริชาร์ดจึงติดต่อเพื่อขอเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำแล้วหารด้วยจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารทั้งหมดที่ติดเกาะร้อยกว่าคน โดยมีค่าใช้จ่ายตกคนละ 39 เหรียญฯ(ประมาณ 1,200 บาท)  

และในปี 1984 Randolph Fields มาเสนอโปรเจคทำสายการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในราคาพิเศษ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจสายการบิน โดยเส้นทางแรกใช้ชื่อสายการบินว่า Virgin Atlantic Airways

และหลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ สายการบิน Virgin Atlantic ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยเปิดบริการครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1984 แต่ด้วยความที่การทำธุรกิจสายการบินนั้น ไม่เหมือนกับธุรกิจแผ่นเสียงก็ตรงที่ มันมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคู่แข่งบิ๊กเบิ้มในวงการนี้ก็คือ British Airways ซึ่งแน่นอนว่า การเข้าสู่วงการธุรกิจสายการบินโลวคอร์สของริชาร์ดนั้น ส่งผลกระทบต่อ British Airways โดยตรง เพราะถูกแย่งลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก ทั้งด้วยราคาที่ต่ำกว่า แถมริชาร์ดก็ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยม แถม British Airways ก็ไม่สามารถเลียนแบบได้ง่าย ๆ ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ การจะเคลื่อนไหวแต่ละทีนั้นเป็นไปด้วยความเชื่องช้า และใช้ต้นทุนที่สูงกว่ามาก ในขณะที่สายการบินของ Virgin ที่เป็นสายการบินเล็ก ๆ นั้น ตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า และใช้งบประมาณที่น้อยกว่ามาก

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา British Airways จึงใช้เทคนิคที่ไม่ค่อยแฟร์สักเท่าไหร่นักกับ Virgin ด้วยการที่กล่าวหาว่าทาง Virgin นั้นขโมยลูกค้าของ British Airways ไป และแฮคคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เกิดการเสียชื่อเสียงของ Virgin Atlantic และในที่สุดทาง British Airways ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับทาง Richard Branson เป็นจำนวนเงินกว่า 500,000 ปอนด์ (ราว ๆ 22 ล้านบาท) และจ่ายค่าเสียหายให้กับสายการบิน 110,000 ปอนด์ (ราว ๆ 4.8 ล้านบาท) และจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฏหมายอีก 3 ล้านปอนด์ (ราว ๆ 132 ล้านบาท) และเงินก้อนนี้นี่เอง ก็ได้กลายเป็นเงินโบนัสให้กับทีมงานใน Virgin Atlantic Airways นั่นเอง

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายเหมือนโปรยทางด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในปี 1992 สายการบิน Virgin Atlantic ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จึงจำเป็นที่จะต้องขาย Virgin Records ไปให้กับ EMI ในราคา 500 ล้านยูโร หรือราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท และนำไปปลดหนี้ให้กับธุรกิจสายการบิน Virgin Atlantic ให้รอดพ้นจากการถูกยึดบริษัทจากเงินที่ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเพื่อซื้อเครื่องบินในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ แม้ว่าริชาร์ดจะสามารถรักษาธุรกิจ Virgin Atlantic เอาไว้ได้ แต่ก็ต้องเสีย Virgin Records บริษัทที่รักของเขาไป

และปัจจุบันนี้บริษัท Virgin Group ของเขานั้น ก็มีมากกว่า 400 บริษัทที่อยู่เครือ ซึ่งแทบจะมีอยู่ในทุก ๆ อุตสาหกรรม โดยเขายึดหลักว่า แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนที่ทำเป็นคนแรก แต่เขาต้องทำให้ดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันให้ได้ แม้ว่าคู่แข่งจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ตาม

  • 1985 ก่อตั้ง Virgin Holidays
  • 1987 ก่อตั้ง Virgin Airship & Balloon
  • 1994 ก่อตั้ง Virgin Vodka & Virgin Cola
  • 1996 ก่อตั้ง Virgin Trains
  • 1999 ก่อตั้ง Vitgin Mobile
  • 2000 ก่อตั้ง Virgin Energy
  • 2004 ก่อตั้ง Virgin Galactic
  • 2006 ก่อตั้ง Virgin Fuel
  • 2007 ก่อตั้ง Virgin Media
  • 2008 ก่อตั้ง Virgin Healthcare

ซึ่งเขามักจะใช้ความยากเปลี่ยนเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยการทำการตลาดแบบสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะใช้เงินทุนอย่างบริษัทใหญ่ ๆ และหลายต่อหลายครั้ง เขาก็มักได้ลงสื่อหน้า 1 ฟรี ๆ อยู่บ่อย ๆ ในขณะที่คู่แข่งต้องใช้เงินทุนหลายล้าน ถึงจะได้ออกสื่อแบบเขา

โดยสิ่งที่ทำให้เขาสามารถที่จะบริหารบริษัทได้มากกว่า 400 บริษัทนี้ เคล็ดลับก็คือ จะต้องเสาะหาคนที่ใช่สำหรับธุรกิจนั้น ๆ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมากที่สุด เพราะถ้าสามารถเสาะหาคนที่ดี คนที่เก่ง คนที่ใช่ มาได้แล้ว งานของคุณคือ จะต้องรักษาพวกเขาให้อยู่กับคุณให้ได้นานที่สุด แล้วคนเหล่านั้น ก็จะบริหารงาน ทำงานให้กับบริษัทอย่างสุดความสามารถ

ในส่วนของชีวิตและไลฟสไตล์ของเขานั้น มีพฤติกรรมสุดห่ามให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น

  • ปี 1987 เขาได้ถูกบันทึกว่าเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกด้วยบอลลูนที่ใช้พลังงานลมร้อน
  • ปี 1991 เป็นคนแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทร Pacific ด้วยบอลลูน
  • ปี 2014 เป็นบุคคลที่เดินทางข้ามช่องแคบเกาะอังกฤษด้วยกระดานโต้คลื่น kiteboard ที่มีอายุมากที่สุด
  • มีผู้ติดตามบน LinkedIn มากที่สุด

ในปี 2018 Richard Branson มีทรัพย์สินอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 1.5 แสนล้านบาท) ในวัย 67 ปี เป็นเศรษฐีที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง เป็นเศรษฐีอันดับที่ 388 ของโลก และอันดับที่ 12 ของประเทศอังกฤษ และเขามักจะทำงานการกุศลร่วมกับคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Prisoners Abroad และ International Rescue Corps

Richard Branson ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“Do not be embarrassed by your failures, learn from them and start again.”

หมายถึง จงอย่าได้รู้สึกอายกับความล้มเหลวของคุณ แต่จงเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

– Richard Branson –

Resources