Site icon Blue O'Clock

ประวัติ Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group เจ้าของบริษัทกว่า 400 แห่ง ใน 30 ประเทศทั่วโลก

ริชาร์ด แบรนสัน - Richard Branson

ใครจะไปคิดว่า เด็กหนุ่มชาวอังกฤษ หัวไม่ดี เรียนไม่จบ ในปัจจุบันกลับพบว่า กลายเป็นเจ้าของธุรกิจกว่า 400 บริษัทใน 30 ประเทศทั่วโลกอย่างทุกวันนี้ด้วยลำแข้งของตนเอง ซึ่งจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group ที่ ณ ปัจจุบัน ตัวเขาเองนั้น ยังไม่ค่อยแน่ใจเลยว่า ณ ตอนนี้ บริษัทในเครือมีกี่บริษัทกันแล้ว

จึงมีคำถามเกิดขึ้นว่า เขาสามารถบริหารการจัดการอย่างไรกับบริษัทจำนวนมากมายขนาดนี้ โดยยังคงคุณภาพของการให้บริการที่ดีได้ด้วย

และนอกจากเรื่องธุรกิจแล้ว เรื่องชีวิตส่วนตัวและไลฟ์สไตล์ที่โดดเด่นของเขา ไม่ว่าจะเป็นการขับเรือข้ามมหาสมุทร ขึ้นบอลลูนยักษ์ข้ามทวีป และยังมีวีรกรรมสุดห่ามและท้าทายอีกเยอะแยะมากมาย ทำให้ผู้คนทั่วโลก ยกย่องให้เขาเป็นไอดอลของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและมีไลฟ์สไตล์ที่สุดเหวี่ยงแบบไม่ลืมอายุกันเลยทีเดียว

Richard Charles Nicholas Branson หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Richard Branson นั้นเกิดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ปี 1950 ที่ประเทศอังกฤษ เมือง Blackheath กรุง London เขาเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลาง โดยคุณพ่อของเขาคือ Edward James Branson เป็นนักกฏหมายและผู้พิพากษา ส่วนแม่ของเขาคือ Evette Huntley Branson ได้พบกับพ่อของเขาเมื่อตอนทำงานเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน (Air Hostess)

ในช่วงวัยเด็กของริชาร์ดนั้น เขาชอบเล่นกีฬามากกว่าการเรียนหนังสือ และก็มีแววที่จะได้เป็นนักกีฬา พ่อกับแม่ของเขาจึงส่งริชาร์ดไปเรียนที่โรงเรียนเน้นการเล่นกีฬาเป็นหลัก โดยไม่ค่อยสนใจเรื่องเกรดการเรียนในตำราสักเท่าไหร่นัก และเขาก็ทำได้ดีจนได้กลายเป็นกัปตันทีมรักบี้และคริกเก็ต แต่ก็ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถที่จะเป็นนักกีฬาได้อีกต่อไป แถมยังเป็นโรค Dyslexia หรือโรคบกพร่องในการอ่านหนังสือ ทำให้เขาต้องเรียนรู้ผ่านการลงมือทำแทนที่จะเรียนรู้จากหนังสือแทน

และตอนที่เขาอายุได้ 11 ปี ก็เริ่มธุรกิจแรกกับเพื่อนรักที่ชื่อนิคด้วยการ และเพาะเลี้ยงนกแก้วขาย ซึ่งขายได้เป็นจำนวนมากแต่ก็เจ๊งในที่สุด เพราะยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารการจัดการที่ดีพอ ซึ่งเจอปัญหาทั้งมีหนูแอบมากินนกบางตัว และเนื่องจากขยายพันธุ์เร็วจนเกินไป ทำให้มีนกแก้วออกมาเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งก่อมลพิษทางเสียง ซึ่งรบกวนเพื่อนบ้านในละแวกนั้น แม่ของเขาจึงตัดสินใจที่จะเปิดกรงทิ้งไว้และปล่อยให้พวกมันบินออกไปในที่สุด แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ริชาร์ดเสียใจแต่อย่างใด และนั่นก็ทำให้เขาเริ่มมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ

จนในช่วงก่อนวันอีสเตอร์ เขากับนิคก็ได้เริ่มต้นปลูกต้นคริสมาสต์ขาย โดยนำเมล็ดพันธุ์จำนวน 400 เมล็ด และคาดการณ์ว่า มันจะต้องทำเงินให้กับพวกเขาได้ต้นละ 2 ปอนด์ รวมเป็น 800 ปอนด์ในวันคริสต์มาสอีฟ แต่เรื่องที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เพราะในเวลาต่อมา ได้มีฝูงกระต่ายได้แอบเข้ามากินต้นกล้าของพวกเขาก็แทบไม่เหลือ พวกเขาจึงแก้แค้นเจ้ากระต่ายเหล่านั้นด้วยการล่าพวกมันแล้วนำไปขายให้กับร้านที่รับซื้อเนื้อพวกมัน แม้จะได้เงินไม่เท่าที่พวกเขาคาดหวัง แต่ก็ยังพอถอนทุนคืนได้บ้าง

ซึ่งในปี 1966 อายุ 16 ปี เขาได้เริ่มต้นธุรกิจทำหนังสือแมคกาซีน ที่ชื่อ Student และขายพื้นที่โฆษณาในหนังสือด้วยการส่งจดหมายนับร้อยฉบับ โทรนับร้อยสาย เพื่อเสาะหาผู้สนับสนุนที่ต้องการเผยแพร่สินค้าหรือบริการของพวกเขาผ่านกลุ่มผู้อ่านใน Student โดยมีคุณแม่ของเขาคอยซับพอร์ทในเรื่องต่าง ๆ เช่น การช่วยเขียนจดหมาย, การเสาะหารายชื่อผู้มุ่งหวัง และเงินทุนอีกเล็กน้อย จนกระทั่งได้รับเช็คค่าโฆษณาก้อนแรกเป็นจำนวน 250 ปอนด์ หรือราว ๆ หมื่นกว่าบาท และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนมียอดพิมพ์สูงถึง 1 แสนฉบับ

และเนื่องจากริชาร์ดนั้นมีปัญหาบกพร่องในการการเรียนรู้และการอ่าน และต้องการออกไปลุยทำ Student Magazine อย่างเต็มตัว เขาจึงออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยครูใหญ่แสดงความยินดีไปหาริชาร์ดในวันที่เขาเปิดตัวนิตยสาร Student ในฉบับแรกว่า “I predict you will either go to prison or become a millionaire.” ฉันทำนายว่าหลังจากที่เธอออกจากโรงเรียนไปแล้ว ครูคิดว่าถ้าเธอไม่ติดคุกไปซะก่อนก็คงได้เป็นมหาเศรษฐีแน่นอน

แต่ริชาร์ดก็ยังคงรู้สึกว่า ธุรกิจนิตยสารของเขานั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จมากพอตามที่เขาตั้งใจเอาไว้ เขาจึงมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในปี 1970 เขาจึงตัดสินใจเขาสู่วงการการค้าขายแผ่นเสียง โดยตั้งราคาให้ถูกกว่าร้านทั่ว ๆ ไปอยู่ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเขาไม่มีต้นทุนหน้าร้าน และอาศัยการทำการตลาดจากแมคกาซีน Student ที่มีกลุ่มผู้อ่านเป็นวัยหนุ่มสาว ซึ่งเขาใช้กลยุทธ์เพิ่มเติมอีกอย่างนึงก็คือ แผ่นเสียงที่ขายเหล่านั้น จะต้องเป็นแผ่นเสียงที่หาซื้อได้ยากและหาได้เฉพาะที่เมือง ลอนดอนเท่านั้น โดยให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่านนิตยสารและเขาก็จะส่งของทางไปรษณีย์

แต่ทุกอย่างก็เหมือนจะไปได้ดี จนกระทั่งเกิดการประท้วงหยุดงานของพนักงานไปรษณีย์ ทำให้ไม่สามารถส่งแผ่นเสียงให้กับลูกค้าได้ และเกือบจะล้มละลายกันเลยทีเดียว

ในปี 1971 เขาจึงตัดสินใจเปิดหน้าร้านขายแผ่นเสียงเป็นที่แรกเพื่อให้ผู้คนสามารถเข้ามารวมกลุ่มกันเพื่อซึมซับดนตรีก่อนที่จะทำการซื้อแผ่นเสียง โดยก่อนเปิดร้านพวกเขาได้นั่งนับจำนวนผู้คนที่เดินผ่านบริเวณนั้นจนมั่นใจว่า มีผู้คนมากพอที่จะเห็นหน้าร้านของพวกเขา บนถนน Oxford Street ในกรุง London ซึ่งพวกเขาได้ไปเจรจากับเจ้าของร้านรองเท้าในพื้นที่นั้น เพื่อขอเช่าพื้นที่ที่ว่างอยู่ ซึ่งครั้งแรกที่เจ้าของร้านรองเท้าได้ยินว่าพวกเขาจะเปิดร้านขายแผ่นเสียง ก็โพร่งออกมาทันทีเลยว่า “พวกนายไม่มีทางจ่ายค่าเช่าฉันได้แน่ ๆ” แต่ด้วยทักษะการเจรจาของริชาร์ดทำให้เจ้าของร้านรองเท้ายอมในที่สุด แถมยังไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเริ่มแรกจนกว่าจะเริ่มมีลูกค้าเข้ามาที่ร้านระดับหนึ่งอีกด้วย เพราะในฝั่งของเจ้าของร้านรองเท้ายังไงก็ไม่ได้ใช้พื้นที่ส่วนนั้นทำอะไรอยู่แล้ว และร้าน Virgin Records ก็ได้ถือกำเนิดขึ้นมาแล้ว

และในทุก ๆ วันอาทิตย์ ริชาร์ดกับนิค ก็มักจะไปแจกเบอร์ชัวในช่วงรัศมี 50 เมตร ของร้าน เพื่อแจ้งลูกค้าในละแวกนั้นว่า ในวันจันทร์ที่กำลังจะถึงนี้ เป็นวันลดราคาพิเศษ และในทุก ๆ คืนวันจันทร์ ก็จะเห็นริชาร์ดแบกกระเป๋าใส่เงินใบใหญ่ไปฝากที่ธนาคารอยู่เป็นประจำ

วิธีที่ริชาร์ดใช้ต้อนรับลูกค้าภายในร้าน Virgin Records ก็คือ ภายในร้านจะมีหูฟังที่สามารถให้ลูกค้าฟังเพลงตัวอย่างในนิตยสารชื่อดังที่ติด Top Chart และมีกาแฟบริการฟรีในร้าน ซึ่งมันทำให้บรรยากาศของร้านนั้นเป็นกันเอง จนเกิดการบอกกันปากต่อปาก และทำให้เกิดลูกค้าขาประจำ ที่กลับมาซื้อซ้ำ ด้วยจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ๆ

แต่ก็ใช่ว่าร้านขายแผ่นเสียงของพวกเขาจะไม่มีปัญหา เพราะด้วยระบบการจัดส่งทางไปรษณีย์ที่ยังไม่สามารถ Tracking หรือติดตามผลงการส่งแบบ Real Time อย่างในปัจจุบัน และเวลาที่ลูกค้าบอกว่าพวกเขาไม่ได้รับแผ่นเสียง ทาง Virgin เองก็จำเป็นที่จะต้องส่งแผ่นใหม่ไปให้กับพวกเขา ซึ่งไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่า ค่าใช้จ่ายเริ่มสูงกว่ารายได้ และขาดทุนไปกว่า 15,000 ปอนด์  หรือราว ๆ 6 แสนกว่าบาท และนั่นก็เป็นค่าหน่วยกิตการเรียนรู้ที่พวกเขาต้องจ่ายไปในการทำธุรกิจจริง

และเมื่อขาดทุน ก็จำเป็นที่จะต้องเงินทุนมาต่อลมหายใจให้กับธุรกิจ ซึ่งริชาร์ดได้ออเดอร์ก้อนใหญ่จากประเทศเบลเยี่ยม ซึ่งเป็นการรับออเดอร์ครั้งแรกจากต่างประเทศ และด้วยความอ่อนต่อประสบการณ์การ เขาจึงไม่ได้คิดถึงเรื่องของภาษีการส่งออกสินค้า จนกลายเป็นผิดกฏหมายในข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งทำให้เขาถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 1 คืน และในวันรุ่งขึ้นก็ถูกปล่อยตัวเนื่องจากพ่อและแม่ของเขาได้นำเงินจากการเอาบ้านไปจดจำนองและมาประกันตัวเขาออกไปด้วยเงินจำนวน 30,000 ปอนด์ หรือราว ๆ 1.3 ล้านบาท

ในเวลาต่อมาเขามีโอกาสได้ฟังเพลงเดโมของศิลปินเจ้าหนึ่ง ซึ่งหลังจากฟังแล้ว เขาก็คิดว่า ไม่สามารถปล่อยศิลปินคนนี้ให้หลุดมือไปได้ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีความคิดที่จะเปิดค่ายเพลงด้วยซ้ำไป จนกระทั่งเขาตัดสินใจเปิดตัว Studio สำหรับบันทึกเสียง โดยมีศิลปินที่มีชื่อเสียงมากมายในสังกัดของตนเอง จนสามารถขายแผ่นเสียงได้หลายล้านแผ่น ซึ่งทำให้บริษัท Virgin ของริชาร์ดนั้น มีการเงินที่คล่องตัวมากจนหมดปัญหาในเรื่องของเงินทุน ทำให้เขาเริ่มมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ในเวลาต่อมา

1979 เขาได้ซื้อเกาะ Necker Island โดยตั้งชื่อให้มันใหม่ว่า British Virgin Island จากราคา 6 ล้านดอลล่าร์ หรือราว ๆ 186 ล้านบาท ในราคาเพียง $180,000 หรือราว ๆ 5 ล้านกว่าบาท ซึ่งจะว่าเป็นดวงของเขาก็ได้ เพราะด้วยความที่เจ้าของเกาะคนเก่านั้นร้อนเงิน จึงตัดสินใจขายกรรมสิทธิ์ให้กับริชาร์ด แต่ก็มีข้อแม้จากรัฐบาลว่า จะต้องพัฒนาให้เป็นรีสอร์ทภายใน 4 ปี หากเกินกว่านั้น สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของเกาะจะกลับคืนสู่รัฐบาล โดยให้ถือว่าทุกอย่างเป็นโมฆะ

ในระหว่างนั้นเองที่กิจการของ Virgin ไปได้ด้วยดี เขาจึงใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ 30 ล้านบาท) เพื่อพัฒนารีสอร์ทบนเกาะแห่งนี้ ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้จำนวน 30 คน สนนราคาค่าเช่าก็ไม่แพง อยู่ที่คืนละ 65,000 เหรียญฯ หรือคืนละ 2 ล้านบาทเท่านั้นเอง

โดยริชาร์ดยอมรับว่า ตอนแรกสุดนั้นเขาซื้อเพื่อเอาใจแฟนสาวของเขาที่ชื่อ Joan Templeman ก็เท่านั้นเอง ซึ่งในปัจจุบันก็คือภรรยาของเขา และปัจจุบันมีลูกด้วยกัน 2 คน คือ Holly Branson และ Sam Branson

ในปี 1983 อาณาจักรของ Richard Branson นั้นมีมากกว่า 50 บริษัทเข้าไปแล้ว โดยสามารถสร้างยอดขายรวมกันได้กว่า 17 ล้านเหรียญฯ (หรือราว ๆ กว่า 500 ล้านบาท) ซึ่งในเวลาต่อมาเขาได้สนใจในธุรกิจการทำสายการบิน มีจุดเริ่มต้นมาจากในระหว่างที่ริชาร์ดกำลังเดินทางไปยังประเทศเปอร์โตริโกกับภรรยาของเขา แต่เที่ยวบินของเขาถูกยกเลิก ซึ่งติดอยู่ที่อยู่เกาะ ๆ หนึ่ง ริชาร์ดจึงติดต่อเพื่อขอเช่าเครื่องบินแบบเหมาลำแล้วหารด้วยจำนวนที่นั่งของผู้โดยสารทั้งหมดที่ติดเกาะร้อยกว่าคน โดยมีค่าใช้จ่ายตกคนละ 39 เหรียญฯ(ประมาณ 1,200 บาท)  

และในปี 1984 Randolph Fields มาเสนอโปรเจคทำสายการบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในราคาพิเศษ ทั้งสองจึงได้ร่วมกันก่อตั้งธุรกิจสายการบิน โดยเส้นทางแรกใช้ชื่อสายการบินว่า Virgin Atlantic Airways

และหลังจากนั้นเพียง 1 สัปดาห์ สายการบิน Virgin Atlantic ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยเปิดบริการครั้งแรกในวันที่ 22 มิถุนายน ปี 1984 แต่ด้วยความที่การทำธุรกิจสายการบินนั้น ไม่เหมือนกับธุรกิจแผ่นเสียงก็ตรงที่ มันมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคู่แข่งบิ๊กเบิ้มในวงการนี้ก็คือ British Airways ซึ่งแน่นอนว่า การเข้าสู่วงการธุรกิจสายการบินโลวคอร์สของริชาร์ดนั้น ส่งผลกระทบต่อ British Airways โดยตรง เพราะถูกแย่งลูกค้าไปเป็นจำนวนมาก ทั้งด้วยราคาที่ต่ำกว่า แถมริชาร์ดก็ให้ความสำคัญกับการบริการลูกค้าที่ยอดเยี่ยม แถม British Airways ก็ไม่สามารถเลียนแบบได้ง่าย ๆ ด้วยความที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ การจะเคลื่อนไหวแต่ละทีนั้นเป็นไปด้วยความเชื่องช้า และใช้ต้นทุนที่สูงกว่ามาก ในขณะที่สายการบินของ Virgin ที่เป็นสายการบินเล็ก ๆ นั้น ตัดสินใจได้รวดเร็วกว่า และใช้งบประมาณที่น้อยกว่ามาก

ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา British Airways จึงใช้เทคนิคที่ไม่ค่อยแฟร์สักเท่าไหร่นักกับ Virgin ด้วยการที่กล่าวหาว่าทาง Virgin นั้นขโมยลูกค้าของ British Airways ไป และแฮคคอมพิวเตอร์เพื่อทำให้เกิดการเสียชื่อเสียงของ Virgin Atlantic และในที่สุดทาง British Airways ก็ต้องจ่ายค่าเสียหายให้กับทาง Richard Branson เป็นจำนวนเงินกว่า 500,000 ปอนด์ (ราว ๆ 22 ล้านบาท) และจ่ายค่าเสียหายให้กับสายการบิน 110,000 ปอนด์ (ราว ๆ 4.8 ล้านบาท) และจ่ายค่าธรรมเนียมตามกฏหมายอีก 3 ล้านปอนด์ (ราว ๆ 132 ล้านบาท) และเงินก้อนนี้นี่เอง ก็ได้กลายเป็นเงินโบนัสให้กับทีมงานใน Virgin Atlantic Airways นั่นเอง

แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ง่ายเหมือนโปรยทางด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในปี 1992 สายการบิน Virgin Atlantic ประสบปัญหาทางด้านการเงินอย่างหนัก จึงจำเป็นที่จะต้องขาย Virgin Records ไปให้กับ EMI ในราคา 500 ล้านยูโร หรือราว ๆ 2 หมื่นล้านบาท และนำไปปลดหนี้ให้กับธุรกิจสายการบิน Virgin Atlantic ให้รอดพ้นจากการถูกยึดบริษัทจากเงินที่ไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาเพื่อซื้อเครื่องบินในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ๆ แม้ว่าริชาร์ดจะสามารถรักษาธุรกิจ Virgin Atlantic เอาไว้ได้ แต่ก็ต้องเสีย Virgin Records บริษัทที่รักของเขาไป

และปัจจุบันนี้บริษัท Virgin Group ของเขานั้น ก็มีมากกว่า 400 บริษัทที่อยู่เครือ ซึ่งแทบจะมีอยู่ในทุก ๆ อุตสาหกรรม โดยเขายึดหลักว่า แม้ว่าเขาจะไม่ใช่คนที่ทำเป็นคนแรก แต่เขาต้องทำให้ดีกว่าเจ้าอื่น ๆ ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบันให้ได้ แม้ว่าคู่แข่งจะเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ตาม

ซึ่งเขามักจะใช้ความยากเปลี่ยนเป็นความท้าทายใหม่ ๆ ด้วยการทำการตลาดแบบสร้างสรรค์ มากกว่าที่จะใช้เงินทุนอย่างบริษัทใหญ่ ๆ และหลายต่อหลายครั้ง เขาก็มักได้ลงสื่อหน้า 1 ฟรี ๆ อยู่บ่อย ๆ ในขณะที่คู่แข่งต้องใช้เงินทุนหลายล้าน ถึงจะได้ออกสื่อแบบเขา

โดยสิ่งที่ทำให้เขาสามารถที่จะบริหารบริษัทได้มากกว่า 400 บริษัทนี้ เคล็ดลับก็คือ จะต้องเสาะหาคนที่ใช่สำหรับธุรกิจนั้น ๆ เขาให้ความสำคัญกับเรื่องของคนมากที่สุด เพราะถ้าสามารถเสาะหาคนที่ดี คนที่เก่ง คนที่ใช่ มาได้แล้ว งานของคุณคือ จะต้องรักษาพวกเขาให้อยู่กับคุณให้ได้นานที่สุด แล้วคนเหล่านั้น ก็จะบริหารงาน ทำงานให้กับบริษัทอย่างสุดความสามารถ

ในส่วนของชีวิตและไลฟสไตล์ของเขานั้น มีพฤติกรรมสุดห่ามให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็น

ในปี 2018 Richard Branson มีทรัพย์สินอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (หรือราว ๆ 1.5 แสนล้านบาท) ในวัย 67 ปี เป็นเศรษฐีที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง เป็นเศรษฐีอันดับที่ 388 ของโลก และอันดับที่ 12 ของประเทศอังกฤษ และเขามักจะทำงานการกุศลร่วมกับคนอื่น ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น Prisoners Abroad และ International Rescue Corps

Richard Branson ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“Do not be embarrassed by your failures, learn from them and start again.”

หมายถึง จงอย่าได้รู้สึกอายกับความล้มเหลวของคุณ แต่จงเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้นแล้วเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

– Richard Branson –

Resources

Exit mobile version