สัมภาษณ์ Elon Musk หลังจากซื้อ Twitter ไปแล้ว by Ron Baron | Blue O’Clock Podacst EP. 22
Ron Baron เป็นผู้จัดการกองทุนรวมและนักลงทุนชาวอเมริกัน เขาเป็นผู้ก่อตั้ง Baron Capital ซึ่งเป็นบริษัทจัดการการลงทุน และมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารประมาณ 45,000 ล้านดอลลาร์ฯ
โดย Ron Baron ได้เริ่มต้นถาม Elon Musk ว่า ปีนี้อายุก็ 51 ปี แล้ว รวยแล้ว มีทุกสิ่งอย่างแล้ว แต่คุณก็ยังใช้ชีวิตทุ่มเทกับการทำงานมากกว่า 16 ชั่วโมงต่อวัน ทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์
แต่ผมอยากถามคุณด้วยความสงสัยเหลืเกินว่า เพราะเหตุใด ทำไมคุณถึงยังคงทำงานอยู่?
โดย Elon Musk ก็ตอบว่า ตัวของเขานั้นกำลังดำเนินการเพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่สามารถสร้างผลกระทบอะไรบางอย่างต่ออนาคตของโลกอยู่
Tesla
ซึ่งตัวของเขาเชื่อว่า การที่เขามาลุยกับ Tesla นั้น ต้องยอมรับว่ามันเหมือนกับเป็นตัวเร่งให้โลกเข้าสู่การสร้างพลังงานอย่างยั่งยืน ‘Sustainable energy’ อย่างมีนัยสำคัญ
เพราะก่อนที่ Tesla จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้น ไม่มีบริษัทใดเลยที่คิดจะผลิตรถไฟฟ้าออกมาขาย แต่พอมาตอนนี้ บริษัททั่วโลกต่างก็ทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากันอย่างล้นหลาม ซึ่งส่วนตัวของเขานั้นมองว่าปรากฏการณ์นี้มันเป็นเรื่องยิ่งใหญ่มาก
แต่มันก็ยังคงเป็นเรื่องที่ห่างไกลที่โลกของเราจะเข้าสู่โหมดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนทั่วทั้งโลก ซึ่งนั่นก็คือสิ่งที่ Tesla พยายามทำงานอย่างหนัก เพื่อไปสู่เป้าหมายนั้นให้ได้
SpaceX
ส่วน SpaceX ที่เป็นบริษัทผลิตงานอวกาศนั้น เขาก็มองว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับมนุษยชาติ เพราะในระยะยาวนั้น จะทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์กลายเป็นสปีชี่ส์ที่อยู่ในหลากหลายดวงดาว ซึ่งมันก็เป็นเหมือนกับเพิ่มหลักประกันว่า อย่างน้อยถ้าโลกแตก มนุษย์ก็จะยังคงมีชีวิตที่ดาวดวงอื่นโดยยังไม่สูญพันธุ์จากเหตุการณ์บนโลก
ซึ่งโลกของเรานั้น พึ่งเกิดขึ้นมาราว ๆ 4,500 ล้านปีที่แล้ว และจักรวาลก็มีอายุราว ๆ 13,800 ล้านปี
ในขณะที่อารยธรรมของมนุษย์เรานั้น พึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 5,000-6,000 ปีที่แล้ว ที่เขานับจากการที่มนุษย์เรานั้นมีงานเขียนครั้งแรกออกมาจากอารยธรรมสุเมเรียน (Sumerian)
ซึ่งนับว่าเป็นเวลาอันน้อยนิดมาก ๆ เมื่อเทียบกับการเกิดอารยธรรมของมนุษย์เทียบกับการเกิดขึ้นของโลก ของจักรวาล
ดังนั้น เขาจึงต้องการที่จะทำให้มั่นใจว่า แสงเทียนจากแท่งเทียนที่มีแสงสว่างอันริบหรี่ที่เปรียบเสมือนแสงสว่างของอารยธรรมมนุษย์นั้น จะยังคงส่องสว่างอยู่ในความมืดมิดอันยาวนาน
Tesla patents
คำถามต่อมาที่ทาง Baron ถามก็คือ เพราะเหตุใดทาง Elon Musk จึงเลือกที่จะแบ่งปันข้อมูลสิทธิบัตรในการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าให้กลายเป็นสาธารณะ ที่ใคร ๆ ก็สามารถทำสิทธิบัตรนี้ไปใช้ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้?
โดยทาง Elon Musk ก็ตอบว่า ถ้าหากเปรียบเทียบกับวงการผลิตยารักษาโรคนั้น ก็จะพบว่า ขั้นตอนการ Research & Development นั้น เป็นขั้นตอนที่ใช้เงินในการวิจัยกว่าจะได้ตัวยาที่สมบูรณ์ออกมานั้นอย่างมหาศาล แถมยังจะต้องใช้เวลาอย่างยาวนานที่กว่าจะได้สูตรสำเร็จออกมา
แต่เมื่อได้สูตรสำเร็จมาแล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ มันจะทำให้ต้นทุนในการผลิตยาแต่ละเม็ดออกมานั้น มันถูกลงมาก ๆ เพราะมันถูกผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก
ซึ่งในกรณีของ Tesla ที่เป้าหมายของบริษัทก็คือการสร้าง sustainable energy สร้างพลังงานที่ยั่งยืนเพียงลำพังนั้น ไม่สามารถทำได้ แต่มันจะต้องเป็นการที่บริษัททั้งอุตสาหกรรมนี้จะต้องทำร่วมกัน ดังนั้นเขาจึงคิดว่า การเผยแพร่สิทธิบัตรในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่สามารถให้บริษัทอื่น ๆ นำไปใช้ได้นั้น จะช่วยเร่งความเร็วไปสู่เป้าหมายได้
ส่วนแม้ว่าในตอนนี้ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจะยังคงมีราคาที่สูงอยู่ แต่ในอนาคตราคาของมันจะลงมาเพื่อให้คนทั่วไปนั้น สามารถจับต้องได้
Tesla Autonomy
และสิ่งที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุดในอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คือ Autonomy คือการที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนได้เองอัตโนมัติ
เพราะโดยจากข้อมูลการใช้รถพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่มักใช้เวลาหมดไปกับการขับรถเฉลี่ยราว ๆ 10-12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ยวันละประมาณครึ่งชั่วโมงต่อวัน
ดังนั้น ในหนึ่งสัปดาห์มีทั้งสิ้น 168 ชั่วโมง และถ้ารถมันสามารถขับเองได้โดยอัตโนมัติ มันก็จะขับได้เฉลี่ยราว ๆ 50-60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือเฉลี่ย 200-300 ชั่วโมงต่อเดือน ซึ่งเราสามารถเอาเวลาที่เคยใช้ในการขับรถ ไปทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ก็จะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล
แถมเราจะยังได้รับประโยชน์ทางอ้อมก็คือ มันจะทำให้จำนวนความต้องการที่สำหรับจอดรถลดจำนวนน้อยลงด้วย ดังนั้น มันจึงส่งผลดีต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบไปโดยปริยายอีกด้วย
ส่วนวิธีการคิดที่เขาใช้ในการที่สร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีต้นทุนที่ถูกลงเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น ๆ นั้น เขาบอกว่า
First Principles
เขาใช้หลักคิดแบบ First Principles ซึ่งทางทีมงาน Blue O’Clock ได้เคยทำเนื้อหาอย่างละเอียดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว
แต่พูดโดยสรุปก็คือ มันจะมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนหลัก ๆ ในกระบวนการคิด
ขั้นตอนที่ 1 – คือการระบุปัญหาและกำหนดสมมติฐานปัจจุบัน เพราะมันจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าหากเราตั้งคำถามผิดแต่ตอบถูก เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการตั้งคำถามให้ถูกเสียก่อน
ขั้นตอนที่ 2 – ชำแหละปัญหาเพื่อระบุหลักการขั้นพื้นฐานที่สุดที่สิ่งนั้นควรจะมี สิ่งใดหรือกระบวนใดที่ไม่จำเป็นให้ตัดทิ้งไปก่อน เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นที่ขาดไม่ได้เท่านั้น เพราะถ้าลองดูดี ๆ ก็จะพบว่า มีชิ้นส่วนภายในรถยนต์หลายอย่างที่ใส่เอาไว้แล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มันเลย หรือบางอย่างก็ใส่มันเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินที่มีอัตราการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสถิติตัวเลขที่น้อยมาก ๆ ที่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นสิ่งสำคัญมาก แต่จริง ๆ แล้วมันอาจไม่ได้เช่นนั้น
ยกตัวอย่างเช่น แผ่นไฟเบอร์ที่วางซ้อนอยู่บนแบตเตอร์รี่ที่ต้องมีด้วยกันถึงสามชั้น เพื่อลดโอกาสในการที่แบตเตอร์รี่จะเสียดสีในระหว่างที่ตัวกำลังเคลื่อนที่ ที่อาจจะก่อให้เกิดเหตุไฟไหม้ในรถยนต์ไฟฟ้าได้
เขาก็เลยตั้งคำถามใหม่ว่า ทำไมจะต้องใส่แผ่นไฟเบอร์ดังกล่าวให้สิ้นเปลืองด้วย แล้วจริง ๆ แล้วเราใส่มันไปเพื่ออะไร อัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีที่เกิดการเสียดสีในบริเวณแบตเตอร์รี่นั้น มันเกิดขึ้นจากอะไร
สุดท้ายเขาได้นำถามคำถามดังกล่าวไปในทีมวิศวกรที่อยู่แผนกแบตเตอร์รี่ก็พบว่า สาเหตุมันเกิดจากการที่เวลาที่รถเคลื่อนที่นั้น มันมีเสียงดังที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของตัวรถ แล้วก่อให้เกิดการเสียดสีบนแบตเตอร์รี่
ดังนั้นเขาก็เลยนำคำตอบดังกล่าวไปบอกกับวิศกรที่ดูแลเรื่องนี้ว่า เดี๋ยวคุณทำให้รถมันเงียบลง เพราะมันจะช่วยลดการเกิดเสียงดัง และการสั่นสะเทือนของตัวรถ แล้วพอทำได้ดังนั้น เขาก็สั่งไปว่า ไอ้เจ้าแผ่นไฟเบอร์บนแบตเตอร์รี่นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้อีกต่อไป เพราะหมดปัญหาเรื่องของการเสียดสีที่เกิดจากการสั่นสะเทือนแล้วนั่นเอง
หรืออย่างบางขั้นตอนที่เขานึกภาพไม่ออกและไม่เข้าใจว่า วิศวกรในส่วนของการเชื่อมโครงรถยนต์นั้น ทำการเชื่อมเหล็กบางจุด ที่ดูเหมือนไม่รู้จะเชื่อมส่วนนั้นไปทำไม เขาก็ถามไปตรง ๆ กับวิศกรทีมเชื่อมว่า คุณเชื่อมตรงนั้นเพราะอะไร? แล้ววิศกรแผนกเชื่อมรถก็ตอบมาว่า “เพื่อความปลอดภัยครับ”
จากนั้นทาง Elon Musk เขาก็เลยเอาไปสอบถามกับทีมที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยว่า “การเชื่อมเหล็กตรงจุดนี้ ทำเพื่อความปลอดภัยใช่หรือไม่อย่างไร?”
ปรากฎว่าทางทีมที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยตอบกลับมาว่า “อ้อ ไม่ต้องเชื่อมส่วนนี้ก็ได้ ไม่มีผลต่อด้านความปลอดภัย” แต่พวกเขาลืมบอกฝ่ายผลิตว่าไม่ต้องทำในส่วนนี้ก็ได้ซะงั้น
เพียงแค่นี้นี่ก็ช่วยประหยัดเวลาและขั้นตอนในการผลิตรถได้มากโขแล้ว
ขั้นตอนที่ 3 – เริ่มต้นสร้างวิธีการแก้ไขปัญหาจากศูนย์โดยให้ทิ้งความรู้ชุดเก่าที่เคยได้รับรู้มา เพราะเราไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ ได้จากการทำแบบเดิม ๆ
Leadership
ซึ่งโดยชีวิตปกติของเขาก็มักจะวิ่งไปวิ่งมาระหว่างแผนกต่าง ๆ ในโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอยู่เป็นปกติในทุก ๆ วัน และเขาก็มักจะกินนอนที่โรงงานนั่นเลย โดยเขาจะนอนบนพื้นแข็ง ๆ แบบไม่มีโซฟานี่แหละ แม้ว่ามันจะไม่สะดวกสบาย
แต่นั่นคือประเด็นที่เขาต้องการจะสื่อกับพนักงานว่า หัวหน้าของพวกเขานั้น ก็ไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้างแล้วหนีไปใช้ชีวิตอย่างสบายนั่งชิลดื่มเครื่องดื่มที่ไหนสักแห่งบนชายหาดอะไรทำนองนั้น
บอสของคุณก็ยังคงทำงานร่วมกับพวกคุณอยู่ที่นี่ นั่นคือสิ่งที่เขาต้องการจะสื่อในแบบของเขาว่า เราจำเป็นที่จะต้องทุ่มเทสุดตัวในการทำงานอย่างขยันขันแข็ง
ซึ่งคำแนะนำที่เขามักตอบคำถามกับคนที่ชอบถามเขาว่า คุณช่วยพูดอะไรเพื่อเป็นการให้กำลังใจสำหรับผู้คนที่คิดจะหันมาเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเองบ้าง
และเขาก็มักจะตอบไปว่า “ถ้าคุณอยากได้กำลังใจในการทำธุรกิจ ผมแนะนำว่า คุณอย่าได้เริ่มต้นทำธุรกิจเลย” นั่นก็เป็นเพราะ เขาจดจำประโยคหนึ่งจากเพื่อนสนิทของเขาในวงการธุรกิจว่า การเริ่มต้นทำธุรกิจ ก็เหมือนกับการที่คุณกำลังกินซากเศษแก้วที่แหลมคมลงคอยังไงยังงั้น มันเหมือนกับอยู่ในนรกเลยทีเดียว
นั่นแหละคือสาเหตุ ที่เขามักจะไม่แนะให้ใครต่อใคร หันมาเริ่มต้นทำธุรกิจส่วนตัว
I’m an Engineer
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ SpaceX นั้น สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมอวกาศได้นั้น ตัวของ Elon Musk เขาบอกว่า กระบวนการส่วนใหญ่ในบริษัท ไม่ว่าจะเป็นทั้ง Tesla หรือ SpaceX นั้น มักเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ Engineer, Design และ Production
ซึ่งถ้าใครถามเขาว่าจะให้คำจัดความกับตัวเองอย่างไร เขาก็สามารถตอบได้ในทันทีว่าเขาคือ ‘ENGINEER’
และการที่ SpaceX สามารถทำการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้ เขามองว่า มันคือการที่ SpaceX นั้น สามารถนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้ เพราะแต่เดิมที ยานอวกาศที่ถูกปล่อยขึ้นจากพื้นโลกไปแล้วนั้น จะต้องถูกทิ้งทั้งหมด ความหมายก็คือ ถ้าจะบินไปยังอวกาศใหม่อีกรอบ ก็ต้องสร้างจรวดอวกาศใหม่อีกรอบทั้งหมด นั่นมันจึงทำให้การบินขึ้นสู่อวกาศนั้น มีต้นทุนที่สูง
ดังนั้น ในช่วงแรกที่ SpaceX ผลิต Falcon 9 ที่เป็นส่วนของไอพ่นที่ส่งยานอวกาศขึ้นไปนั้น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้
และในเวลาต่อมา SpaceX ก็ผลิต Starship ที่เป็นส่วนห้องเครื่องของนักบิน หรือตัวยานอวกาศ สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้สำเร็จ นั่นจึงทำให้ การขนส่งยานอวกาศของ SpaceX นั้น สามารถนำชิ้นส่วนทั้ง 100% กลับมาใช้ซ้ำได้ในที่สุด
ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่า ในวงอุตสาหกรรมนี้จะเป็นไปอย่างไร เขาเพียงแค่รู้ว่า ถ้าเราสามารถนำจรวดอวกาศกลับมาใช้ซ้ำได้ และสามารถเติมเชื้อเพลิงกลับไปในจรวดได้อย่างรวดเร็วแล้วนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นแน่ ๆ ก็คือ ต้นทุนในการบินขึ้นสู่อวกาศจะลดลงจากเดิมอย่างน้อย 1,000 เท่าแน่ ๆ
และนอกจากนั้น ด้วยการออกแบบของยานอวกาศ Starship นั้น มันถูกออกแบบมาให้สามารถลงจอดบนพื้นผิวใด ๆ ก็ได้ในระบบสุริยะนี้ ที่มีพื้นแข็ง ดังนั้น การออกแบบก็มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้ยานอวกาศของ SpaceX สามารถที่จะลงจอดที่ใดก็ได้ในระบบสุริยะนี้
ซึ่งเขาก็ใช้หลักคิด มาจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ที่คงไม่มีใครซื้อรถมาขับเสร็จแล้วทิ้งรถคันนั้นไปเลย ถ้าจะเดินทางใหม่ก็ซื้อรถใหม่อีกรอบ นั่นมันจะทำให้ต้นทุนการเดินทางด้วยรถยนต์นั้นสูงมาก และเช่นเดียวกัน ถ้าหากยานอวกาศสามารถเติมเชื้อเพลิงได้เร็วเหมือนกับที่รถยนต์เติมเชื้อเพลิงได้เร็วนั้น ก็จะช่วยลดระยะเวลาในการเดินทางได้เป็นอย่างมาก และสามารถทำรอบได้เร็วขึ้น ทำรอบได้เยอะขึ้น นั่นจึงส่งผลให้ต้นทุนในการบินขึ้นสู่อวกาศถูกลงนั่นเอง
ซึ่งตอนนี้ SpaceX ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนในการทำให้การเติมเชื้อเพลิงเติมได้เร็วขึ้น ซึ่งนั่นก็จำเป็นที่จะต้องสร้างสถานีอวกาศที่อยู่ในวงโคจรของโลก ที่ยานอวกาศสามารถเข้าสถานีเพื่อเติมเชื้อเพลิงแล้วบินต่อได้เลย
ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมาก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสสำเร็จ เพราะมันมีโอกาสทำได้สำเร็จ แต่มันยากมาก ๆ โดยอุสรรคหลัก ๆ ก็คือ แรงโน้มถ่วงของโลก กับชั้นบรรยากาศของโลกที่หนาแน่น เป็นอุปสรรคต่อการทำเรื่องดังกล่าวให้ประสบความสำเร็จ
ส่วนความลับในการออกแบบยานอวกาศของ SpaceX ให้ประสบความสำเร็จได้นั้น เขาบอกว่า “เขาพูดเยอะไม่ได้” เพราะตอนนี้ก็มีคู่แข่ง มีศัตรู มากพออยู่แล้ว ถ้าเป็นไปได้เขาก็อยากที่จะให้มีบริษัทคู่แข่งที่แช่งให้เขาเจ๊งน้อยมากที่สุดจะดีกว่า (555+)
ซึ่งเป้าหมายของการสร้าง Starship นั้นก็คือการลดต้นทุนในการเข้าสู่วงโคจรของโลกและลงจอดบนดวงจันทร์หรืออย่างบนดาวอังคารได้ด้วยตัวมันเองนั้นก็เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ที่อาจมาจากอุกกาบาตตกใส่โลก หรืออาจมาจากมนุษย์เองที่มีความสามารถในการทำลายล้างโลกอยู่แล้วอย่างอาวุธนิวเคลียร์ หรืออาวุธชีวภาพ
ดังนั้นเขาก็เลยคิดว่า อย่างน้อยก็ควรมีใครสักคนที่หาวิธีป้องกันการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์มนุษย์บนโลกเอาไว้ นั่นก็คือ การนำพามนุษย์โลกให้กลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในหลากหลายดวงดาวนั่นเอง
และอีกเหตุผลหนึ่งที่เขาลุกขึ้นมาทำ SpaceX ก็คือ มันคือสิ่งที่ทำให้เขาใจเต้นแรงทุกครั้ง และเป็นแรงผลักดันให้ตัวของเขานั้นอยากลุกขึ้นจากที่นอนในทุก ๆ วัน เพราะเขาอดใจรอแทบไม่ไหวว่า ในวันพรุ่งนี้จะมีสิ่งที่น่าตื่นเต้นอะไรรอเขาอยู่บ้าง
และเขาก็อยากที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับใครอีกหลายคน เฉกเช่นที่ Project Apollo เคยทำเอาไว้
และแล้วในที่สุด Elon Musk ก็เข้าซื้อกิจการของ Twitter จนได้ ที่ก่อนหน้านี้เกือบจะไม่ได้ซื้อเพราะเขาติดปัญหาเรื่องของการขอข้อมูลบางอย่างเกี่ยวกับพวก spam Twitter ที่ส่วนตัวเขาคิดว่ามันมีจำนวน spam หรือบัญชีปลอมมากเกินกว่าที่ทาง Twitter เคยแจ้งเอาไว้
แต่จนแล้วจนรอดเขาก็เข้าซื้อ Twitter จนได้ในวันที่ 28 ตุลาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา ด้วยดีลมูลค่ากว่า $44,000 ล้านดอลล่าร์ฯ
โดยส่วนตัวของ Elon Musk เขามองว่า ถ้าทำให้ Twitter มันเข้าที่เข้าทางกว่านี้ บริษัทนี้ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกได้เลยทีเดียว (มันยากนะ แต่มันมีโอกาส)
และแม้ว่าเป้าหมายของ Twitter ที่เขาต้องการจะทำให้มันเป็นพื้นที่ในการแสดงความเห็นอย่างอิสระ (free speech) แต่เขาก็ยังคงให้สำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการเหยียดชนชาติ เหยียดสีผิว ที่จะกำจัดพวกนี้ให้หมดไป
ส่วนเรื่องของการที่ Twitter Blue เก็บเงินรายเดือนเพื่อให้ได้เครื่องหมายพิเศษ ราว ๆ $8/เดือน นั้น เขาบอกว่า เขาไม่ได้มีเป้าหมายที่ต้องการให้ทุกคนสมัคร แต่จะทำให้มีคนสมัครได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งเอาเข้าจริงเขาก็บอกว่า ทีคุณจ่ายค่ากาแฟแก้วละ $8 ยังทำได้เลย นี่แค่เดือนละ $8 เอง
โดยประโยชน์ที่ Twitter จะได้รับจากการที่มีสมาชิกจ่ายเงินเข้ามาก็คือ การที่สามารถระบุการมีตัวตนจริง ๆ ได้จากช่องทางการจ่ายเงิน นั่นจะช่วยในเรื่องของการลดปัญหาจำนวนบัญชี spam ลงได้ เพราะการที่ social media มีจำนวน spam หรือบัญชีปลอมเยอะนั้น จะส่งผลให้แพลตฟอร์มตกต่ำลง
ซึ่งอันที่จริง $8/เดือน ที่จ่ายมานั้น สมาชิกจะได้รับมากกว่าเครื่องหมายถูกบนโปรไฟล์อยู่แล้ว ซึ่งตอนนี้เขาก็เริ่มอนุญาตให้ซื้อ long form video และ longform podcast ได้ ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งก็จะถูกแบ่งไปยัง content creator ที่ผลิตเนื้อหาดี ๆ ออกมาบน Twitter ด้วย
ซึ่งถ้าดูจาก Youtube และ Tiktok ก็จะพบว่า เหล่าบรรดา Content creator นั้น พวกเขาสามารถโพสต์วีดีโอยาวได้ และสามารถสร้างรายได้จากวีดีโอที่พวกเขาสร้างขึ้นได้ ดังนั้น เขาก็เลยคิดว่า Twitter ควรจะทำให้กับเหล่าบรรดา content creator แบบนั้นบ้าง
ส่วนพวกอาชญากรนั้น พวกเขาจะไม่จ่ายค่าบริการนี้ แต่เพราะตอนนี้การสร้างบัญชี Twitter จากพวกสแปมนั้น มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเพนนีซะอีก ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการก่ออาชญากรรมนั้นจะมีต้นทุนที่ต่ำเอามาก ๆ
ดังนั้น ยิ่งมีสมาชิกจ่ายเงินรายเดือนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งกรองพวกสแปมและบัญชีปลอมออกไปได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อการก่ออาชญากรรมมีต้นทุนที่สูงขึ้น พวกมันก็จะหันไปหาวิธีการอื่นหรือแพลตฟอร์มอื่นแทน
และนอกจากนั้น เวลาที่สมาชิกที่จ่ายรายเดือนทำการพิมพ์ค้นหาข้อมูลบน Twitter ก็จะทำให้ทางแพลตฟอร์มสามารถจัดเก็บข้อมูลและเรียงลำดับความสำคัญของผู้คนที่มีตัวตนจริง ๆ ก่อน ไม่ใช่ข้อมูลที่มาจากบอทหรือพวกสแปมหรือพวกเกรียนคีย์บอร์ด
ซึ่งนั่นมันก็จะทำให้ระบบการแสดงผลของ Twitter ดีขึ้นไปด้วย และผู้คนที่อยู่ในแพลตฟอร์มก็จะได้สังคมที่ดีขึ้นด้วย
มันก็เหมือนกับระบบค้นหาของ Google ที่พวกสแปมก็มักจะถูกถีบให้ไปอยู่หน้าท้าย ๆ ของผลการค้นหา ดังนั้น ยิ่งถ้า twitter มีสมาชิกมากก็จะยิ่งทำให้พวกสแปมไม่โผล่ขึ้นมาในหน้าแรก ๆ ได้
โดยเขามีมุกขำ ๆ ในวงการ search ว่า ถ้าหากคุณต้องการซ่อนศพใครสักคน สถานที่ที่เหมาะที่สุดก็คือ ซ่อนไว้ที่หน้าสองของผลการค้นหาบน Google นั่นเอง (555+)
ส่วนปัญหาที่ท้าทายที่มีตั้งแต่ก่อนการเข้าซื้อ Twitter นั้น ทาง Elon Musk ก็บอกว่า Twitter มีปัญหาทั้งด้านการหารายได้และรายจ่ายที่สูง
ซึ่งถ้าหากพึ่งโมเดลรายได้จากค่าโฆษณาอย่างเช่นบน Facebook และ Youtube นั้น จะต้องพบเจอกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก
และทาง Twitter เองก็มีโมเดลรายได้จาก Advertising ด้วยเช่นกัน แต่เสี่ยงกว่าตรงที่ รายได้ส่วนใหญ่จากค่าโฆษณาก็มาจากแบรนด์ใหญ่ ๆ แทบทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่แบรนด์ใหญ่ ๆ เลิกการจ่ายค่าโฆษณา ก็ต้องกระทบกับรายได้บน Twitter ในทันที
ซึ่งก็เกิดขึ้นมาแล้ว จากการที่มีนักเคลื่อนไหวออกมาบอกในทำนองที่ว่า หากแบรนด์ใดก็ตามที่ยังคงจ่ายค่าโฆษณาให้กับ Twitter อยู่ พวกเขาจะแบนไม่สนับสนุนการซื้อสินค้าหรือบริการจากแบรนด์ดัง ๆ เหล่านั้น
ซึ่งก็มีผู้ลงโฆษณาจำนวนหนึ่ง จึงได้ทำการยกเลิกลงโฆษณาบน Twitter ไป
ดังนั้นทาง Elon Musk เขาเลยมองว่า ทาง Twitter ก็ไม่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงการทำงานใด ๆ แต่กลับมีรายได้ลดลงอันเนื่องมาจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวในเรื่องของ Frre Speech
ซึ่งมันไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวกับ Twitter มันไม่แฟร์เลย
และแม้ว่าการเข้าซื้อกิจการ Twitter ในครั้งนี้จะทำให้เขาจะต้องทำงานหนักขึ้น อาจมากถึง 120 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ สัปดาห์ละ 7 วัน ตื่น ทำงาน นอน คงจะเป็นวงจรทำนองนี้ไปสักพักใหญ่ จนกว่าจะจัดระเบียบ Twitter ให้เข้าที่เข้าทาง
แต่เขาก็เชื่อว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่ทำให้ Twitter เข้าที่เข้าทางได้แล้ว หลังจากนั้นจะใช้เวลาดูแลน้อยกว่าที่ Tesla และ SpaceX แน่ ๆ เพราะตัวของเขาค่อนข้างมั่นใจตัวเขานั้นเข้าใจในเรื่องของอินเตอร์เน็ตเป็นอย่างดี และมั่นใจในเรื่องของการเขียนซอร์ฟแวร์ เพราะตัวของเขาก็ทำงานเขียนซอร์ฟแวร์มาเป็นเวลามากกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งตัวของเขานั้นก็เป็นคีย์แมนที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ x.com ที่ต่อมาก็กลายเป็น paypal ที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่
ซึ่งอันที่จริงเขามีแผนเกี่ยวกับการสร้าง Product ที่ยอดเยี่ยมที่เขาเคยเขียนแผนเอาไว้ตั้งแต่ปี 2000 ที่จะใช้แผนนั้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ให้กลายเป็นสถานบันการเงินที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้ และวันเวลาก็ผ่านไปกว่า 22 ปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครทำตามแผนดังกล่าวให้สำเร็จได้
ดังนั้นเขาเลยคิดว่าจะนำแผนการดังกล่าว มาปรับใช้กับ Twitter ที่ตอนแรกกะเอาไว้ใช้กับ x.com
ซึ่งหากดำเนินแผนการดังกล่าวได้สำเร็จ จะส่งผลให้ Twitter กลายเป็นองค์กรที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้อย่างแน่นอน ด้วยแผนการเมื่อ 22 ปีที่แล้ว ในเวอร์ชั่นที่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
Resources