Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

THE CEO STORY

ประวัติ Tadao Kashio ผู้ก่อตั้ง CASIO บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ไม่ได้ตั้งใจจะผลิตนาฬิกาชั้นนำของโลก

หากพูดถึงแบรนด์ CASIO นั้น จะต้องเป็นหนึ่งในชื่อที่ติดอันดับต้น ๆ ในใจของใครหลาย ๆ คน ที่ชอบใส่นาฬิกาข้อมือ โดยเฉพาะรุ่นที่ขายดิบขายดีและโด่งดังเป็นพลุแตกอย่าง G-Shock รุ่นที่ CASIO บอกเราว่ามันคือนาฬิกาที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีนี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วบริษัท CASIO นั้น ไม่ได้เป็นแบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อผลิตนาฬิกาโดยเฉพาะ แต่กลับเป็นบริษัทที่เน้นเกี่ยวกับการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ซะมากกว่า ซึ่งมาจนถึงวันนี้ CASIO ก็มีอายุกว่า 72 ปีเข้าให้แล้ว และผู้ก่อตั้งก็คือ Tadao Kashio ที่แม้ว่าเขาจะจากโลกนี้ไปแล้วกว่า 25 ปี แต่ตำนานที่เขาสร้างอยู่นั้นยังคงอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน และ DNA นักประดิษฐ์ก็ถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่น จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งขององค์กร (หมายเหตุ: บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2561)

Tadao Kashio เกิดเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1917 ในเมือง Kureta-mura (ตอนนี้คือเมือง Nankoku) จังหวัด Kochi ประเทศญี่ปุ่น คุณพ่อของเขาคือ Shigeru Kashio และแม่ของเขาคือ Kiyono Kashio โดยมีน้องชายที่คลอดตามกันมาอีก 3 คน คือ Toshio(เกิดปี 1925), Kazuo (เกิดปี 1929) และ Yukio (เกิดปี 1930)

ครอบครัวของ Kashio นั้น เป็นครอบครัวธรรมดาทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อ Tadao อายุได้เพียง 5 ปี ครอบครัวของเขาก็ต้องเผชิญกับภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ญี่ปุ่นเมื่อเดือนกันยายน ปี 1923 (Great Kanto Earthquake)ซึ่งเหตุการณ์นั้น มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1 แสนคน (ประมาณ 142,800 คน) แม้ว่าบ้านของเขาจะเสียหาย แต่โชคยังดีที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่บ้านของเขาก็เสียหายเกินกว่าที่จะซ่อมแซมไหว ครอบครัวของเขาจึงอพยพไปอยู่กับคุณลุง

จากนั้นพ่อของ Tadao ก็เริ่มต้นชีวิตครอบครัว ด้วยการไปรับจ้างเป็นคนงานก่อสร้าง ซึ่งเงินทุกบาททุกสตางค์ที่พ่อของเขาหามาได้จะเก็บไว้เพื่อส่งเสียให้ลูก ๆ ของเขาได้เล่าเรียน เพื่อให้เติบโตมาเป็นเสาหลักของครอบครัวในอนาคต พ่อของเขาประหยัดแม้กระทั่งค่ารถเมล์ โดยยอมที่จะเดินเท้าจากบ้านไปที่ทำงานซึ่งต้องใช้เวลาเดินเท้ากว่า 5 ชั่วโมงในแต่ละวัน ซึ่ง Tadao เองก็ได้ตระหนักถึงความยากลำบากและความเสียสละของพ่อเป็นอย่างยิ่ง และนั่นก็ทำให้เขาตั้งใจศึกษาเล่าเรียนจนเขามักจะกลายเป็นหนึ่งในนักเรียนที่เรียนดีที่สุดในชั้นเรียนอยู่เสมอ

และเมื่อ Tadao จบการศึกษา เขาได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงานที่โรงงาน Enomoto ในตำแหน่งผู้ช่วยช่างกลึงเหล็ก และเช่นกัน เมื่อ Tadao ได้รับโอกาสเข้ามาฝึกงานที่นี่ เขาก็แสดงความมุ่งมั่นและตั้งใจทำงานอย่างขยันขันแข็ง ไม่ว่าจะเป็นตอนเช้าเขาก็มาทำงานก่อนเพื่อน พอตกเย็นก็กลับที่หลังคนอื่น ซึ่งนั่นมันทำให้เป็นที่ถูกอกถูกใจของเจ้าของโรงงานอย่าง Hiroshi Enomoto เป็นอย่างมาก Hiroshi จึงทำการสนับสนุน Tadao ด้วยการให้ทุนการศึกษาให้เขาได้เข้าเรียนต่อระดับชั้นวิทยาลัยที่ วิทยาลัยวาเซดะ (Waseda’s Worker’s School) ทำให้ Tadao ต้องขยันมากขึ้นกว่าเดิม เพราะเขาต้องแบ่งเวลาให้ทั้งที่ทำงานในขณะที่ผลงานเรียนที่วิทยาลัยก็ต้องทำให้ดีด้วย และเขาก็ทำมันได้เป็นอย่างดี

เมื่อ Tadao จบการศึกษาจากวิทยาลัยวาเซดะ เขาก็ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานที่โรงงานของทหาร โดยเป็นโรงงานที่ผลิตเครื่องวิทยุ ในตำแหน่งผู้จัดการและนักประดิษฐ์ ซึ่งเขาได้รับการยอมรับว่า เป็นหนึ่งในนักประดิษฐ์ที่มีฝีมือเยี่ยมที่สุดคนหนึ่ง ณ ขณะนั้น

และแล้วก็เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง Tadao เป็นคนหนึ่งที่มีความรักชาติเป็นอย่างมาก และมุ่งมั่นที่จะช่วยทุกวิถีทางเพื่อให้ญี่ปุ่นได้เปรียบในการทำสงคราม เขาจึงใช้ทักษะในการประดิษฐ์เครื่องยนต์กลไกของเขา มาผลิตชิ้นส่วนของเครื่องบินขนาดเล็ก โดยเขาได้ขอซื้อเครื่องกลึงเหล็ก จากโรงงานที่เขาทำงานอยู่ มาผลิตชิ้นส่วนเครื่องบินขายให้กับกองทัพ จนสามารถชำระเงินกู้ทั้งหมดจากธนาคารและมีฐานะทางการเงินที่ดีขึ้นได้ และได้แต่งงานกับ Shige Noguchi ที่แม่ของเขาเป็นคนเลือกให้

แต่แล้ว เมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นฝ่ายที่ปราชัยในครั้งนี้ ซึ่งทำให้ทางการทหารหยุดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของ Tadao ทั้งหมด แถมบ้านของเขาก็ยังถูกเครื่องบินทิ้งระเบิดของอเมริกันถล่มบ้านของเขาแบบเละไม่มีชิ้นดี เขาจึงโละขายเครื่องจักรทั้งหมดในราคาถูกเพื่อเป็นทุนต่อยอดในอนาคต

ซึ่งต่อมาในปี 1946 ตอนที่ Tadao อายุ 29 ปี เขาก็นำเงินเก็บมาก่อตั้งบริษัทที่ชื่อ Kashio Seisakujo ซึ่งเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนเครื่องจักรและชิ้นส่วนกลไกต่าง ๆ โดยได้ชักชวนน้องชายแท้ ๆ อย่าง Toshio เข้ามาทำงานด้วยกัน

แต่สิ่งประดิษฐ๋แรก ๆ กลับไม่ใช่อะไรที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เรียกว่ากลไกเลย เพราะสิ่งที่พวกเขาผลิตขึ้นมาก็คือแหวนที่ชื่อ Yubiwa ซึ่งเป็นแหวนสามารถใช้ถือบุหรี่ได้ เพราะโดยปกติแล้วชาวญี่ปุ่นในยุคนั้น ทำงานในแต่ละวันมากกว่าวันละ 10 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเดียวที่พวกเขาใช้ในการทำให้ผ่อนคลายก็คือการสูบบุหรี่ และแหวนนี้ก็สามารถช่วยให้ผู้สวม สามารถถือบุหรี่ได้โดยที่ไม่ต้องใช้นิ้วจับมัน ก็ดันกลายเป็นสินค้าขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ณ ตอนนั้น เนื่องจากพวกเขาตั้งใจให้มันมีราคาถูก เพื่อให้เขาถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากยุคหลังสงคราม ผู้คนต่างก็ยังไม่ค่อยมีเงินกันสักเท่าไหร่นัก ซึ่งเงินที่ขายเจ้า Yubiwa นั้น ก็ช่วยให้ฐานะทางการเงินของครอบครัว Kashio มีสภาพคล่องที่ดีขึ้นและสามารถผ่านช่วงวิกฤตทางการเงินจากภาวะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาได้

ผู้บุกเบิกเครื่องคิดเลขไฟฟ้าของประเทศญี่ปุ่น

ในปี 1949 Tadao ในวัย 32 ปี ก็ได้มีโอกาสเข้าชมงาน Business Show ในย่าน Ginza กรุง Tokyo ที่มีการจัดการแข่งขันคิดเลขเร็วระหว่างทหารอเมริกันที่มีเครื่องคิดเลขไฟฟ้าขนาดมหึมากับนักบัญชีชาวญี่ปุ่นที่ใช้ลูกคิด ซึ่งงานนี้ทำให้จุดประกายแก่ Tadao ในการที่อยากจะสร้างเครื่องคิดเลขของประเทศญี่ปุ่นบ้าง ซึ่ง 1 ปีถัดมาหลังจากได้ไปดูงาน ในปี 1950 Tadao จึงชักชวนน้องชายของเขา Toshio เพื่อผลิตและพัฒนาต้นแบบของเครื่องคิดเลขไฟฟ้า ซึ่งด้วยความที่เครื่องจักรและความก้าวหน้าของวิศวกรรมของญี่ปุ่น ณ ขณะนั้น ยังล้าหลังเป็นอย่างมาก ทำให้โปรเจคนี้ดูเหมือนจะริบหรี่ลงไปทุกที

จนกระทั่ง 4 ปี ต่อมา ในปี 1954 พวกเขาก็สามารถผลิตเครื่องคิดเลขไฟฟ้าตัวต้นแบบที่น่าจะเป็นเครื่องแรก ๆ ของประเทศญี่ปุ่นขึ้นมาจนได้ พวกเขาจึงนำไปเสนอขายให้กับบริษัท Bunshodo ที่เป็นบริษัทขายเครื่องใช้สำนักงานทั่วไป แต่ก็ถูกปฏิเสธมาในทันควัน เนื่องจากเครื่องคิดเลขของพวกเขาที่ใช้เวลาพัฒนาถึง 4 ปีนั้น กว่าตัวต้นแบบจะเสร็จก็กลายเป็นสินค้าล้าหลัง ตกยุคไปแล้ว เนื่องจากเครื่องของพวกเขายังไม่มีฟังก์ชั่นการคูณเลขเลย ในขณะที่เจ้าอื่น ๆ จากต่างประเทศมีฟังก์ชั่นนี้กันแล้ว

Kashio brothers

หลังจากเหตุการณ์นั้น Tadao กับ Toshio จึงต้องโละโปรเจคกันใหม่โดยการเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างภายในเกือบทั้งหมด แต่ในครั้งนี้ ได้เกณฑ์พี่น้องท้องเดียวกันทั้งตระกูลมาช่วยทั้งหมด มาเข้าทีม Kashio Seisakujo ซึ่งประกอบไปด้วยพี่น้องตระกูล Kashio ทั้ง 4 คน คือ Toshio, Kazuo, Tadao และ Yukio (จากภาพ เรียงจากซ้ายไปขวา)

ซึ่งด้วยความที่พวกเขาก็ยังไม่มีทุนจ้างนักประดิษฐ์ที่มีฝีมือ ทำให้เหล่าบรรดาพี่น้องตระกูล Kashio ต้องเค้นมันสมองที่มีอยู่ทั้งหมดออกมาให้ได้เยอะ ๆ แทนการใช้เงินเยอะ ๆ แทน และนั่นมันก็ส่งผลให้จากการที่ไม่มีเงินนี่แหละ ที่ทำให้พวกเขา สามารถผลิตเครื่องคิดเลขที่มีฟังก์ชั่นการคูณออกมาจนได้

ในปี 1956 ตอนที่ Tadao อายุได้ 39 ปี ได้พาพี่น้องตระกูล Kashio ไปเข้าร่วมงานแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่เมือง Sapporo แต่ยังไม่ทันไร ก็เจอกับปัญหาด่านแรก นั่นก็คือ ขนาดของเจ้าเครื่องคิดเลขไฟฟ้าของพวกเขา ไม่สามารถโหลดขึ้นเครื่องบินได้ เนื่องจากมันมีขนาดใหญ่จนเกินไป ทำให้พวกเขาต้องถอดชิ้นส่วนบางอย่าง แล้วค่อยไปประกอบอีกทีตอนเครื่องลงจอดแล้ว และนั่นก็ส่งผลให้ เครื่องของพวกเขาไม่ทำงาน Tadao จึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำเสนอสิ่งประดิษฐ๋จากแผ่นสไลด์แทนการสาธิตจากเครื่องจริงแทน เรียกได้ว่ามีปัญหาซ้ำซ้อนไม่หยุดไม่หย่อนจริง ๆ

แต่ก็เหมือนโชคชะตาจะเข้าข้างพี่น้องตระกูล Kashio จนได้ เพราะการพรีเซนต์จากสไลด์ของพวกเขานั้น กลับทำให้บริษัท Uchida Yoko สนใจเครื่องคิดเลขไฟฟ้าของพวกเขา และได้เรียกตัว Tadao ให้นำเครื่องคิดเลขไฟฟ้า ไปสาธิตให้ดู และในที่สุดก็ได้ตกลงเซ็นต์สัญญากัน โดย Kashio Seisakujo เป็นผู้ผลิต และ Uchida Yoko เป็นผู้จัดจำหน่าย

หลังจากนั้น 1 ปี ในปี 1957 ตอนที่ Tadao อายุได้ 40 ปี พวกเขาก็ได้เปิดตัวโมเดล 14-A รุ่นแรกในการผลิต และได้เปลี่ยนชื่อแบรนด์ใหม่เป็น CASIO ซึ่งสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษและสะกดได้ง่ายกว่าคำว่า Kashio ที่เป็นนามสกุลของตระกูล โดยนำไปตั้งชื่อบริษัทว่า CASIO COMPUTER โดยเครื่องคิดเลขรุ่น 14-A นี้ มีน้ำหนักกว่า 140 กิโลกรัม กว้าง 1080 มิลลิเมตร, สูง 780 มิลลิเมตร และลึก 445 มิลลิเมตร และตั้งราคาขายอยู่ที่ 485,000 เยน ซึ่งแม้ว่าราคาจะแพงยิบแถมเครื่องก็ใหญ่เทอะทะ แต่ก็มีเทคโนโลยีที่ล้ำหน้ากว่าเครื่องจากต่างประเทศ ณ ขณะนั้น รวมไปถึงคนญี่ปุ่นก็มีความเป็นชาตินิยมสูงอยู่แล้ว ทำให้เครื่องคิดเลขไฟฟ้าของ CASIO มีคำสั่งซื้อเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นฟูและขยายตัวเป็นอย่างมาก

ซึ่งปรัชญาความเป็นชาตินิยมญี่ปุ่นของ Tadao นั้น เขาได้ให้ความสำคัญกับพนักงานในโรงงานเป็นอย่างมาก ด้วยการดูแลพนักงานอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนารูปแบบการทำงานใหม่ ๆ เพื่อให้ทำงานได้ง่ายขึ้น, มีบริการอาหารกลางวันฟรี โดยคำนวณแคลลอรีและสารอาหารที่ควรได้รับในแต่ละวันอย่างเหมาะสม, มีบริการสั่งน้ำจากบนเทือกเขาเพื่อมาให้พนักงานดื่ม หรือแม้กระทั่งสร้างสนามกีฬาเพื่อเพิ่มสันทนาการของพนักงานในบริษัท และพี่น้องตระกูล Kashio ก็ดูเหมือนจะเป็นผู้นำทัพในการเล่นกอล์ฟตัวยงซะด้วย จนกระทั่งเริ่มละเลยการคิดค้นและพัฒนาเทคโนโลยีให้กับตัวผลิตภัณฑ์ในเวอร์ชั่นใหม่ ๆ จนกระทั่งมารู้ตัวอีกทีก็ตอนที่บริษัทคู่แข่งอย่าง Sharp Corperation ที่จู่ ๆ ก็ได้เปิดตัวเครื่องคิดเลขรุ่นใหม่ ด้วยเทคโนโลยีที่ล้ำกว่าของ CASIO ทำให้ยอดขายของ CASIO COMPUTER ตกฮวบ เพราะลูกค้าหันไปซื้อของคู่แข่งเกือบทั้งหมด

ดังนั้น จงอย่าชะล่าใจ เมื่อตอนที่คุณยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณหยุดพัฒนา แต่คู่แข่งไม่ได้หยุดพัฒนาตามคุณไปด้วย พวกเขาจะหาโอกาสเหมาะ ๆ ที่สามารถแซงคุณและขึ้นเป็นผู้นำได้ในทันที

จนกระทั่งในปี 1965 ตอนที่ Tadao อายุได้ 48 ปี ทาง CASIO COMPUTER ก็ได้พัฒนาเครื่องคิดเลขขึ้นใหม่ทั้งหมด ด้วยการทำเป็นระบบอิเล็คทรอนิกส์ และเปิดตัว เครื่องคิดเลขอิเล็คทรอนิกส์รุ่น 001 ซึ่งมีขนาดเล็กลงและสามารถวางตั้งบนโต๊ะทำงานได้ ซึ่งสินค้าตัวนี้ก็ได้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในสำนักงานต่าง ๆ และหลังจากนั้นเพียง 2 ปี Tadao ก็ได้บุกตลาดสหรัฐฯ โดยผลิตภายใต้แบรนด์ Commodore ที่เป็นบริษัทที่อยู่ในแผ่นดินอเมริกา ทำให้ในยุคต้น 70 นั้น CASIO COMPUTER ก็กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

จนกระทั่งในปี 1970 CASIO COMPUTER ก็ได้เข้าสู่การเป็นบริษัทมหาชน โดยได้เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ใน Tokyo ประเทศ Japan และต่อมาในปี 1973 ก็ได้เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ใน Amsterdam ประเทศ Netherlands และในปี 1979 ก็ได้เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ใน Frankfurt ประเทศ Germany ตามลำดับ

และจากเดิมที่เครื่องคิดเลขเป็นอุปกรณ์สำหรับสำนักงาน ซึ่งยังค่อนข้างมีราคาแพง เมื่อเทียบกับรายได้บุคคลทั่วไป ทางผู้บริหารจึงสั่งให้นักประดิษฐ์ได้สร้างเครื่องคิดเลข ให้มีขนาดเล็กลง และราคาที่คนทั่วไปสามารถจับต้องได้ จนกระทั่งในปี 1972 บริษัทก็ได้เปิดตัวเครื่องคิดเลขรุ่น CASIO Mini และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมาก จนกลายเป็นเครื่องสามัญประจำบ้าน ที่ทุกบ้านต้องมีใช้ และหลังจากเปิดตัวไปเพียง 10 เดือน CASIO ก็สามารถขายเครื่องคิดเลขได้มากกว่า 1 ล้านเครื่องเลยทีเดียว

CASIO เริ่มบุกตลาดนาฬิกาข้อมือ

และในช่วงต้นยุค 70 นี้นี่เอง ที่ Tadao มองเห็นโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมนาฬิกาข้อมือ ที่ในยุคนั้น ฝ่ายที่ครองตลาดอยู่ก็คือยุโรป โดยเฉพาะประเทศ Switzerland ที่เป็นผู้นำตลาด แต่เนื่องจากนาฬิกาข้อมือยังมีราคาค่อนข้างสูงและด้วยความที่ผู้นำยังเชื่อมั่นว่า นาฬิกากลไกแบบเดิมยังทรงคุณค่ากว่านาฬิกาที่เป็นระบบดิจิตอล

จึงทำให้ Tadao เริ่มรุกช่องว่างทางตลาด โดยผลิตนาฬิการะบบดิจิตอลในราคาถูกและราคาปานกลาง ซึ่งยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่มาก ซึ่งบริษัท CASIO COMPUTER ได้กลายมาเป็นบริษัทแรกที่ผลิตนาฬิกาแบบสควอตซ์

( นาฬิการะบบควอทซ์ หรือนาฬิกาอิเล็กทรอนิค หรือนาฬิกาที่ใช้แบตเตอรี่ อาจเรียกว่านาฬิกาใส่ถ่านาฬิกาพวกนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เป็นตัวหมุนเข็มให้เดินบอกเวลา หรือ รายงานผลผ่านจอ LCD หรือ หลอดไฟ LED และพวกนี้จะใช้พลังงานไฟฟ้าบางส่วนส่งผ่านผลึกควอทซ์ แล้วรับสัญญาณความถี่ กลับออกมาให้ ไมโครโปรเซสเซอร์ประเมินออกมาเป็นเวลา เพื่อควบคุมการเดินของเข็ม นาฬิกาพวกนี้ให้ความเที่ยงตรงสูง แถมราคาค่อนข้างถูกเพราะว่าชิ้นส่วนอีเล็กทรอนิคในปัจจุบันทำได้ครั้งละเป็นจำนวนมากๆ ทำให้ราคาไม่สูงนัก – ที่มา – https://www.hisooutlet.com/blogs/news/10438089- )

และนอกจากนั้น CASIO ยังเป็นรายแรก ๆ ที่สามารถทำให้นาฬิกาข้อมือแสดงเวลาในโซนต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงการบอกอุณหภูมิของอากาศ, ความกดอากาศ, ระดับความสูงจากน้ำทะเล เป็นต้น

จนกระทั่งในปี 1974 Tadao ในวัย 57 ปี ก็ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือตัวแรกในรุ่น CASIOTRON โดยตัวนาฬิกา เป็นแบบอิเล็คทรอนิกส์ สามารถแสดงเวลาได้เที่ยงตรง และมีจุดเด่นคือ มีปฏิทินที่บอกวันเดือนปีแบบอัตโนมัติ และมันก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้คน เพราะด้วยความที่ชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์มีราคาถูกและสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนทั่วไป สามารถจับจองเป็นเจ้าของได้

และตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา บริษัท CASIO COMPUTER ก็ได้นำเทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์มาแตกไลน์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ ไม่ว่าจะเป็น จอทีวี LCD, เครื่องแปลภาษา, โทรศัพท์บ้าน, GPS นำทางรถยนต์, เครื่องวิทยุ, เครื่องปริ้นเตอร์ ฯลฯ

Yukio Kazuo Tadao Toshio
(เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา) Yukio (Production Manager), Kazuo (Sales Representative), Tadao (Finance Officer) และ Toshio (Development)

ซึ่ง Tadao สามารถนำพา CASIO ให้กลายมาเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์อย่างต่อเนื่องนานกว่า 2 ทศวรรษ และได้เกษียณอายุลงในปี 1988 ในวัย 71 ปี และให้น้องชายสุดเลิฟอย่าง Toshio รับช่วงต่อ ส่วนน้องชายที่เหลืออย่าง Kazuo และ Yukio ก็ได้รับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง โดย Tadao ยังคงรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาอวุโสของบริษัท และทำงานจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยเขาจากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ปี 1993 ในวัย 75 ปี

จะเห็นได้ว่า กว่าที่จะมี CASIO ในวันนี้ Tadao ต้องผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน แต่ด้วยความที่เป็นคนขยันขันแข็ง มุมานะ และรู้จักมองหาโอกาสทางธุรกิจอยู่เสมอ ซึ่งทำให้พบกับช่องว่างทางการตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้เก่งเรื่องสิ่งประดิษฐ์มาตั้งแต่แรก แต่ด้วยความที่สร้างธุรกิจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีแต่อุปสรรค แต่เขาก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ และไอ้ด้วยความที่ไม่มีเงินถุงเงินถังมากนัก ก็เลยถูกบีบให้ต้องใช้สมองเยอะ ๆ จึงกลายเป็น DNA ของบริษัท ที่เน้นพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ รวมไปถึงการมีปรัชญาแบบชาตินิยมของคนญี่ปุ่นอยู่เต็มสายเลือด ด้วยความรักชาติอย่างแรงกล้า เขาจึงพร้อมที่จะทุ่มแรงกายแรงใจทั้งหมด เพื่อให้คนในชาติมีความสุข เฉกเช่นเดียวกับที่พ่อของเขา ทุ่มเทเพื่อเลี้ยงดูเขามาจนเติบใหญ่ได้นั่นเอง

Kikuo Ibe

ซึ่ง DNA ของ CASIO ที่ Tadao ได้ปลูกฝังเอาไว้ให้กับคนในบริษัท จนทำให้พนักงานในรุ่นต่อมาได้รับอิทธิพลนั้นมาด้วย ซึ่งสามารถดูได้จากผลิตภัณฑ์ที่ชื่อ G-SHOCK ที่ถือได้ว่าเป็นผลงานระดับ Master Piece ของวงการนาฬิกาโลก ที่คิดค้นขึ้นโดย Kikuo Ibe (คิคุโอะ อิเบะ) วิศวกรที่เป็นพนักงานของ CASIO มาทันทีที่เรียนจบ ตั้งแต่ปี 1978 และได้แรงบันดาลใจในการออกแบบนาฬิกาให้มีความแข็งแรงทนทาน เมื่อเขาประสบกับเหตุการณ์ด้วยตนเอง ที่เขาได้รับของขวัญเป็นนาฬิกาจากคุณพ่อ แต่ดันเกิดเหตุจนนาฬิกาได้ร่วงหล่นลงพื้น ซึ่งแม้ว่าภายนอกจะยังดูเหมือนใช้งานได้ แต่ภายในเสียหายจนไม่สามารถซ่อมแซมได้ เขาจึงตั้งมั่นว่า จะต้องผลิตนาฬิกาที่มีความแข็งแรงทนทานที่ต่อให้ตกจากตึกสิบชั้นก็ไม่พัง

หลังจากนั้น Kikuo ก็ได้นำไอเดียในการสร้างนาฬิกานี้ไปเสนอกับทางผู้บริหารของ CASIO ซึ่งทางผู้บริหารก็เปิดโอกาสให้เขาได้ทำโปรเจคอย่างอิสระ ซึ่งเขาก็ได้ทำการทดลองและล้มเหลวกว่า 200 ครั้ง ตลอดระยะเวลาทดลองกว่า 3 ปี ก็ไม่สำเร็จสักกะที เพราะทุกครั้งที่เขาขว้างนาฬิกาลงจากตึก แม้ว่าตัวนาฬิกาภายนอกจะไม่ได้รับความเสียหายในการตกกระแทกกับพื้น แต่ภายในก็เละไม่มีชิ้นดี

จนกระทั่งถึงวันที่เขาแทบจะถอดใจในโปรเจคนี้อยู่แล้ว แต่ในระหว่างนั้นเขาได้ไอเดียจากเด็กน้อยคนหนึ่งที่กำลังเล่นลูกบอลยางที่กำลังเด้งอยู่บนพื้น ซึ่งทำให้เขาได้ทำการปรับให้ตัวกลไกของนาฬิกาลอยอยู่ตรงกลางโดยไม่ยึดติดกับตัวเรือน แล้วจากนั้นจึงปรับเปลี่ยนวัสดุภายนอกเป็นยางที่สามารถรองรับแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี เพื่อมาเป็นตัวยึดระหว่างเครื่องและตัวเรือนเอาไว้

และแล้วโมเดลแรกของ G-SHOCK ก็เปิดตัวครั้งแรกในปี 1983 ในรุ่น DW5000C ซึ่งใช้คอนเซปต์ Triple 10 ที่สามารถทนแรงกระแทกจากการตกลงบนพื้นได้ 10 เมตร กันน้ำได้ในระดับ 10 บาร์ และมีอายุแบตเตอร์รี่ยาวนานถึง 10 ปี และที่มาของชื่อ G-SHOCK ก็คือ ตัว G ย่อมาจากคำว่า “Gravity” ที่หมายถึงแรงโน้มถ่วงของโลก รวมกับคำว่า SHOCK ที่หมายถึง แรงกระแทก รวมกันจึงกลายเป็น นาฬิกาที่ทนทานต่อแรงกระแทก

ส่วนคุณ Kikuo Ibe ได้ให้ความหมายของ G-SHOCK เอาไว้ว่า “มันคือส่วนผสมของการแข็งแกร่งทนทานและความยืดหยุ่น ที่มีดีไซน์ดูโก้เก๋ บวกเข้ากับเทคโนโลยีที่ดีที่สุด ณ ขณะนั้น”

แต่ดูเหมือนรูปแบบและการดีไซน์ที่เทอะทะและบึกบึน เนื่องจากคนในสมัยนั้นยังนิยมใส่แบบบางและเรียบหรูดูดีซะมากกว่า ซึ่งคนที่ซื้อไปใช้ก็มักจะเป็นคนงานก่อสร้างไม่ก็ตำรวจ ทำให้ G-SHOCK เข้าสู่ภาวะขายไม่ออกยาวนานถึง 10 ปี จนกระทั่งกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในหมู่วัยรุ่นชาวอเมริกัน เมื่อรายการทอล์คโชว์รายการดัง ได้นำนาฬิกา G-SHOCK ไปทดสอบความทนทาน ด้วยการฟาดด้วยไม้ฮอกกี้น้ำแข็งแทนลูกฮอกกี้ในการแข่งขัน รวมไปถึงการใช้รถบรรทุกหนักกว่า 22,650 กิโลกรัมแล่นมาทับตัวเครื่อง ซึ่งปรากฏว่ามันยังใช้งานได้เป็นอย่างดี สมกับราคาคุย จนทำให้ถูกบันทึกสถิติลง Guinness World Records ว่าเป็นนาฬิกาที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เพิ่มการดีไซน์และผสมผสานแฟชั่นเพิ่มลงไปทำให้ถูกใจวัยรุ่นมะกันเป็นอย่างมาก ซึ่งหากนับตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ G-SHOCK ก็มีอายุกว่า 35 ปี เข้าไปแล้ว ซึ่งมันถูกผลิตและพัฒนารูปแบบมามากกว่า 5,000 รุ่น

คุณ Kikuo Ibe ได้ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่เอาไว้ว่า “เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มทำอะไรที่มันมีความท้าทายสูง คุณจะต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากอย่างมากมายที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งคุณจะต้องไม่ยอมแพ้มันเด็ดขาด ไม่ว่าจะเจอเรื่องที่ยากมากแค่ไหนก็ตาม จงก้าวข้ามผ่านมันไปให้ถึงเส้นชัยให้จงได้”

ซึ่งความฝันสุดท้ายของเขาก็คือ เขาได้จินตนาการเอาไว้ว่า สักวันหนึ่งเมื่อยุคอวกาศมาถึง เขาอยากที่จะผลิต G-SHOCK ให้กับชาวโลกและมนุษย์ต่างดาวได้สวมใส่มัน (เชรดดดดดด)

และนี่ก็คือหนึ่งในตัวอย่างที่ DNA ของ CASIO ถูกส่งตกทอดมายังคนรุ่นใหม่ ที่กลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งอย่างทุกวันนี้

Resources