อยากรวยต้องรู้ กฎ 20 ข้อของเกมการเงิน by Patrick Bet-David
มีคำกล่าวที่ว่า “เงินสำคัญมากในทุก ๆ เรื่องที่ต้องใช้เงิน และเงินมันจะไม่สำคัญเลยสักนิดในเรื่องที่ไม่ต้องใช้เงิน” ดังนั้นหากเรากำลังที่จะพยายามทำความเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วระหว่างที่คนมีเงินมากกับคนที่มีเงินน้อยนั้น พวกเขามีความแตกต่างกันอย่างไร อย่างแรกสุดคือ “ความคิด” ต่อมาคือความรู้ เพราะความรู้นั้น จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจในเรื่องนั้น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ไม่เฉพาะแต่เรื่องของเงิน ซึ่งหากเรามีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเงิน เราก็สามารถอยู่ในกลุ่มของคนที่มีกะตังค์มากกว่าที่จะอยู่ในกลุ่มของคนที่กระเป๋าสตางค์เหือดแห้งแทน และนี่ก็คือกฎของเงิน ที่ Patrick Bet-David ที่ปรึกษาทางการเงินที่มีมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญฯ จะมาให้ความรู้กับเรา
กฎข้อที่ 1 – เงินคือเกมชนิดหนึ่ง (MONEY IS A GAME)
มันไม่สำคัญหรอกว่าจะเป็นเกมเกี่ยวกับอะไร แต่ละเกมก็มีกฎและวิธีเล่นแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถการันตีได้ว่า คุณจะเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ชนะเกมนั้น ๆ หรือเป็นผู้เล่นที่ดีในเกมนั้น ๆ ก็คือ ชั่วโมงบินในการเล่นเกมนั้น ๆ ยิ่งสูง คุณก็มีโอกาสที่จะเล่นเกมนั้นได้ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณไม่เคยเล่นหมากรุกมาก่อน แล้วไปเล่นกับคนที่เล่นหมากรุกมาเป็นร้อย ๆ ครั้ง เขาก็คนนั้น ก็มีโอกาสชนะสูงกว่าตัวคุณ และข่าวดีก็คือ ในเมื่อเงินมันคือเกมชนิดหนึ่ง ดังนั้น เราสามารถที่จะเรียนรู้กฎและวิธีการเล่นของเกมการเงินได้ และทำให้เรามีทักษะที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ และเงินในกระเป๋าของคุณก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
กฎข้อที่ 2 – จงอย่าเป็นคนที่เกลียดเงิน (DON’T BE A HATER OF MONEY)
คุณอาจจะเคยได้ยินเรื่องเกี่ยวกับการเงินในทางลบ เช่น เงินเป็นสิ่งชั่วร้าย, เงินเยอะก็มีความโลภมาก, คนมีเงินเยอะ ๆ เป็นคนไม่ดี, เงินมันไม่ได้งอกขึ้นมาจากต้นไม้สักกะหน่อย ฯลฯ อะไรทำนองนี้ ซึ่งหากคุณจะคิดแบบนั้นมันก็ไม่ผิด แต่หากมองย้อนกลับไปที่กฎง่าย ๆ ที่ว่า เวลาที่คนเรานั้นไม่ชอบอะไรสักอย่าง เราก็จะไม่อยู่ใกล้มัน และมันก็จะไม่อยู่ใกล้เรา ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการจะจีบใครสักคนหนึ่ง โดยที่คุณอาจจะถูกแนะนำผ่านเพื่อนหรือพ่อแม่ของคุณ ซึ่งแน่นอนว่าพ่อแม่ใครก็อิยากให้ลูกตัวเองได้คนดี ๆ แต่ปรากฏว่า เมื่อคุณเจอตัวจริง ๆ ของเขาคนนั้นแล้วพบว่า ไม่ใช่คนในสเป็กของคุณ ซึ่งแม้ว่าเขาจะดูดีก็ตามที ท้ายที่สุดในเมื่อคุณไม่ชอบเขา และเขาเองก็ไม่ชอบคุณ สุดท้ายแล้ว ต่อให้เป็นแผนกันก็แยกทางกันอยู่ดี
เช่นเดียวกัน หากคุณมีทัศคติที่ไม่ดีกับเงิน เงินก็จะไม่อยู่กับคุณเช่นกัน อย่าลืมว่า จะดีจะร้ายมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวของเงิน แต่มันขึ้นอยู่กับตัวผู้ใช้เงินต่างหากว่าจะใช้ไปในทางใด
กฎข้อที่ 3 – มันคือเกมของการทวีคูณ (IT’S A DOUBLE GAME)
หากเงินคือเกม ถ้าเช่นนั้นหากต้องการเป็นผู้ชนะในเกมการเงิน สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้เงินในกระเป๋าคุณเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ ปี เช่น
- เงินเริ่มต้น 1,000
- ปีที่ 1 – 2,000
- ปีที่ 2 – 4,000
- ปีที่ 3 – 8,000
- ปีที่ 4 – 16,000
- ปีที่ 5 – 32,000
- ปีที่ 6 – 64,000
- ปีที่ 7 – 128,000
- ปีที่ 8 – 256,000
- ปีที่ 9 – 512,000
- ปีที่ 10 – 1,024,000
คำถามก็คือ “แล้วจะทำยังไงให้เงินเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ ปี?” ซึ่งมันไม่มีคำตอบที่แน่นอนและตายตัว เพราะแต่ละคนเริ่มต้นไม่เหมือนกัน มีทรัพยากรไม่เท่ากัน สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน เช่น หากเป้าหมายคุณคืออยากมีเงินล้านภายใน 10 ปี นับจากนี้ สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ
- ณ ตอนนี้คุณมีเงินในกระเป๋าเริ่มต้นเท่าไหร่?
- มีหนี้สินไหม? ถ้ามีเท่าไหร่?
- อายุเท่าไหร่? ยังหนุ่มยังแน่นอยู่ หรือเริ่มอายุเยอะแล้ว?
- คุณรับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน?
- คุณมีภาระรับผิดชอบที่ต้องดูแลคนอื่นหรือไม่? ฯลฯ
จะเห็นได้ว่า ปัจจัยแต่ละข้อนั้น แต่ละคนมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่มีใครที่มีสถานะทางการเงินเหมือนกันเป๊ะ ๆ แบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ดังนั้น คำถามต่อมาก็คือ คุณจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง และใช้วิธีการใดเพื่อให้เหมาะสมกับตัวคุณมากที่สุด เพื่อที่จะชนะในเกมการเงิน
กฎข้อที่ 4 – เงินจะเข้าหาคนที่น่าเหย้ายวน (SEDUCTION)
หากเปรียบเงินเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง มันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ชอบคนที่น่าเหย้ายวนใจ หากยังนึกภาพไม่ออก ให้ลองนึกถึงคน ๆ หนึ่ง ที่ดูแล้วมีสเน่ห์มาก ใครเห็นใครก็อยากเข้าใกล้ ใครเห็นใครก็รัก ใครเห็นใครก็หลง ใครเห็นใครก็อยากเป็นเพื่อน ผู้ใหญ่เห็นก็อยากให้งานให้โอกาส สปอนเซอร์เห็นก็อยากจ้างงาน นักธุรกิจอยากร่วมงานด้วย เป็นต้น
นั่นคือเหตุผลหนึ่งว่า ทำไมคุณจำเป็นที่จะต้องทำให้ตัวเองดูดีน่าคบหา และที่สำคัญคือ ต้องเป็นที่รัก ที่รู้จักและมีชื่อเสียง เปรียบเทียบกันอย่างง่าย ๆ เลยว่า หากคุณจะระดมทุนช่วยเหลือใครหรืออะไรสักอย่าง ระหว่างคนที่มีชื่อเสียงกับคนที่ไม่มีนั้น ผลลัพธ์แตกต่างกันอย่างชัดเจน นั่นคือเหตุผลว่า ยิ่งคุณมีชื่อเสียง คุณก็สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มากขึ้นเช่นกัน
กฎข้อที่ 5 – จังหวะของเวลา (TIMING)
หากคุณกำลังอยู่ในเกมการเงินแบบ full-time คุณอาจกำลังทำธุรกิจอะไรบางอย่างอยู่ ซึ่งมันจะมีเรื่องมากมายเข้ามาเพื่อให้คุณตัดสินใจที่จะทำอะไรบางอย่าง เพื่อให้ธุรกิจของคุณอยู่รอด เช่น เมื่อไหร่ที่จะต้องลดต้นทุน, เมื่อไหร่ที่จะต้องขยายธุรกิจ, เมื่อไหร่ที่จะต้องลงทุน, เมื่อไหร่ที่จะต้องปิดกิจการ ซึ่งสิ่งที่น่ากลัวที่สุดกว่าการตัดสินใจผิดพลาดก็คือ “การไม่ตัดสินใจ”
ซึ่งการตัดสินใจที่ถูกหรือจะผิดนั้น มันขึ้นอยู่กับความรู้ที่คุณมี การเตรียมตัวที่คุณฝึกฝนรับสถานการณ์นั้น ๆ มา และขึ้นอยู่กับประสบการณ์ที่คุณมี และเมื่อคุณสั่งสมประสบการณ์ที่มากพอ มันจะทำให้คุณสามารถตัดสินใจได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ
กฎข้อที่ 6 – เงินไม่ชอบความน่าเบื่อหน่าย (BOREDOM)
เงินเป็นสิ่งที่จะไหลไปหาคนที่มันคิดว่าน่าเหย้าหยวน (จากกฎข้อที่ 4) เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำตัวน่าเบื่อ เงินมันจะไหลไปหาคนที่น่าสนใจว่า ซึ่งหากเปรียบเทียบกับคนที่เป็นแฟนกัน เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาหรือเธอทำตัวน่าเบื่อ สุดท้ายแล้วคุณก็จะออกห่างจากคน ๆ นั้น แล้วไปหาคนใหม่ที่น่าเหย้ายวนกว่า
กฎข้อที่ 7 – จงสร้างบัญชีลับ (ALWAYS HAVE A SECRET ACCOUNT)
บัญชีลับที่ว่านี้จะต้องลับถึงขนาดที่ว่า ไม่มีใครรู้ว่ามันมีอยู่นอกจากคุณเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น แฟน พ่อ แม่ พี่น้อง ลูกน้อง หรือใครก็ตาม ยกเว้นแต่ธนาคารที่คุณเอาเงินไปฝากเอาไว้
ซึ่งหน้าที่ของเจ้าบัญชีลับที่ว่านี้ จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อ คุณเจอกับวิกฤตทางการเงินขั้นรุนแรง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นวันใดวันหนึ่งกับธุรกิจของคุณ เช่น หากไม่จ่ายเงินก้อนนี้ ธุรกิจคุณอาจจะเจ๊งไปเลย แต่ถ้าจ่ายได้ ก็สามารถรันธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งมันแตกต่างกับเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะเหตุการณ์ฉุกเฉิน อาจจะยังไม่ถึงกับต้องปิดกิจการ ดังนั้น จงหาเงินจากช่องทางอื่น อย่าไปดึงเงินจากบัญชีลับของคุณ
กฎข้อที่ 8 – อย่าซื้อตั๋วเครื่องบินเฟิร์สคลาส จนกว่าคุณจะมีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านดอลล่าร์ (DON’T FLY FIRST CLASS UNTIL YOU HAVE $10,000,000 IN YOUR BANK ACCOUNT)
Patrick บอกว่าเขาจะไม่ยอมเสียเงินให้กับการซื้อตั๋วแบบ first class เด็ดขาดจนกว่าเขาจะมีเงินในบัญชีเกินกว่า 10 ล้านเหรียญฯ (ราว ๆ 300 ล้านบาท) ยกเว้นเสียแต่ว่าเขาได้รับการอัพเกรดฟรีจากการสะสมไมล์การบิน หรือคนอื่นจ่ายเงินซื้อตั๋วให้เขาไปบรรยายหรือทำธุรกิจ
ลองคิดง่าย ๆ ว่า ในกรณีที่คุณมีเงินในบัญชียังไม่มาก การจ่ายค่าตั๋วที่แพงเกินไปนั้น มันอาจจะทำให้คุณสูญเสียเงินไปแบบเปล่าประโยชน์และกระทบกับการเงินของคุณได้ ลองดูตัวเลขกันคร่าว ๆ ระหว่างตั๋วแต่ละแบบ
สมมติว่า คุณจะต้องไปติดต่อเพื่อทำธุรกิจที่ประเทสญี่ปุ่นเดือนละหนึ่งครั้ง เป็นเวลาหนึ่งปี ค่าใช้จ่ายจากตั๋วเครื่องบิน (โดยประมาณ)
- ชั้นประหยัด ไป-กลับ เที่ยวละ 13,000 บาท ตลอด 1 ปี เป็นเงิน 13,000 x 12 = 156,000 บาท
- ชั้นธุรกิจ ไป-กลับ เที่ยวละ 34,000 บาท ตลอด 1 ปี เป็นเงิน 34,000 x 12 = 408,000 บาท
- ชั้นเฟิร์สคลาส ไป-กลับ เที่ยวละ 100,000 บาท ตลอด 1 ปี เป็นเงิน 100,000 x 12 = 1,200,000 บาท
สมมติว่าธุรกิจของคุณ ทำเงินได้ปีละ 1 ล้านบาท ค่าตั๋วเครื่องบินแต่ละแบบ คิดเป็นเปอร์เซ็นต์จะได้ดังนี้
- ชั้นประหยัด คิดเป็น 15.6%
- ชั้นธุรกิจ คิดเป็น 40.8%
- ชั้นเฟิร์สคลาส คิดเป็น 120% หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแค่ค่าตั๋วเครื่องบินก็ทำให้ธุรกิจขาดทุน 2 แสนบาทต่อปีแล้ว
ทีนี้ลองดูว่าเมื่อธุรกิจของคุณ สามารถทำเงินได้ปีละ 10 ล้านกันดูบ้าง
- ชั้นประหยัด คิดเป็น 1.56%
- ชั้นธุรกิจ คิดเป็น 4.08%
- ชั้นเฟิร์สคลาส คิดเป็น 12.00%
จะเห็นได้ว่า เมื่อคุณมีรายได้มากขึ้น ค่าเครื่องบินที่แพงที่สุด ยังมีเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าชั้นประหยัดตอนที่คุณมีเงินหนึ่งล้านบาทซะอีก
(หมายเหตุ : ตัวเลขตั๋วเครื่องบินเป็นการประมาณคร่าว ๆ เพื่อให้คำนวณได้ง่ายขึ้น)
กฎข้อที่ 9 – วางแผนเรื่องของภาษี (TAXES)
มีประโยคขำ ๆ ที่มักจะเล่าต่อกันมาว่า เกิดเป็นมนุษย์มีอยู่อย่างน้อย 2 สิ่งที่คนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้นั่นก็คือ ความตายและภาษี การยืดอายุของคนเราอาจทำให้โดยการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอและใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ส่วนสำหรับภาษีก็มีวิธีลดหย่อนเช่นกัน ซึ่งหากคุณมีรายได้จากการทำธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล มันจะมีหลายวิธีการมาก ๆ ที่คุณสามารถใช้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีได้เมื่อเทียบกับบุคคลธรรมดาทั่วไป
เพราะถือว่า คนทำธุรกิจนั้น เป็นการสร้างเงินสร้างงานให้กับคนอื่น ๆ ในสังคมให้มีกินมีใช้ ดังนั้นคุณจงศึกษาและวางแผนเรื่องของภาษีให้ดี อย่าพยายามหลีกเลี่ยงภาษี เพราะคุณไม่มีทางหนีมันพ้น แต่หากคุณทำเรื่องการลดหย่อนภาษีและจ่ายภาษีอย่างถูกต้อง คุณก็สามารถทำธุรกิจอย่างไร้กังวล ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกปรับย้อนหลัง เพราะบางรายที่ถูกปรับภาษีย้อนหลังถึงกับเจ๊งได้เลยทีเดียว
กฎข้อที่ 10 – เตรียมพร้อมรับมือกับวันสิ้นโลก (END OF THE WORLD MENTALITY)
เราไม่สามารถรู้ได้ว่า จะมีสงครามโลกหรือวิกฤตทางการเงินเกิดขึ้นอีกตอนไหนและเมื่อไหร่ แต่หากคุณลองสังเกตดี ๆ ทุกครั้งที่วิกฤตนั้นจบลง จะมีคนกลุ่มหนึ่งร่ำรวยขึ้นมาเป็นอย่างมาก ในขณะที่คนส่วนใหญ่กำลังใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก เพราะในระหว่างที่เกิดวิกฤต สิ้นค้าส่วนใหญ่จะขายไม่ค่อยออก จึงมีสินค้าถูกเทขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาปกติเป็นอย่างมาก เช่น บ้าน คอนโด อสังหาฯ มีราคาถูกกว่าครึ่ง, หุ้นมีราคาต่ำ, งานศิลปะอาจมีราคาเหลือแค่ 1 ใน 5 จากเดิม
ซึ่งสิ่งที่คุณจะต้องเตรียมก็คือ การถือเงินสดไว้เป็นจำนวนมากพอที่จะสามารถคว้าโอกาสตรงนี้เอาไว้ และเมื่อหลังจบวิกฤตและเหตุการณ์ทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ มันจะทำให้สินค้าที่คุณได้มาในราคาถูก กลายเป็นสินค้าที่สามารถทำกำไรได้อย่างมหาศาล
หรืออีกตัวอย่างจากผู้นำของสหรัฐอเมริกา
- ในสมัยของประธานาธิบดีอย่าง อับบาฮัม ลินคอน นั้น ได้ทำนโนบายเลิกทาสให้เกิดจริงได้
- ส่วนสมัยของบารัก โอบามานั้น เน้นสันติภาพ ไม่สนับสนุนสงคราม และส่งเสริมสุขภาพของคนในประเทศ ที่มีโครงการอย่างโอบามาแคร์
- และในสมัยของโดนัล ทรัมป์ ก็เน้นคนในชาติต้องมาก่อน โดยให้สิทธิ์ชาวอเมริกันมาเป็นอับหนึ่ง เป็นต้น
กฎข้อที่ 11 – ศึกษาคณะรัฐบาลและผู้นำของคุณในแต่ละยุค (STUDY YOUR POLITICIANS, ESPECIALLY YOUR PRESIDENT)
คณะรัฐบาลในแต่ละประเทศในแต่ละยุคสมัยนั้น มีนโยบายที่แตกต่างกัน คุณจำเป็นต้องรู้ให้ทันว่า ผู้นำและรัฐบาล ณ ขณะนั้น มีการสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนนโยบายใดบ้าง ยกตัวอย่างเช่น มีกฎหมายออกมาว่า มีการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้จากธุรกิจที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยี ซอร์ฟแวร์ หรือเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพ เป็นระยะเวลา 5 ปี สิ่งที่คุณสามารถใช้ประโยชน์ได้จากนโยบายหรือกฎหมายนี้ก็คือ เริ่มต้นทำธุรกิจซะ และเร่งให้เติบโตภายใน 5 ปีนี้ เป็นต้น
กฎข้อที่ 12 – ศึกษาและเรียนรู้จากนักลงทุนที่ฉลาด (STUDY SMART INVESTORS)
วิธีเรียนรู้ง่ายที่สุดเลยก็คือ การเรียนรู้จากหนังสือของนักลงทุนคนนั้น ๆ ที่เราสนใจ ยกตัวอย่างเช่น Warren Buffett ที่เป็นเจ้าพ่อวงการหุ้นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งจุดประสงค์ก็คือ การเรียนรู้แนวคิดของเขาว่า เขามีวิธีการคิดอย่างไร ทำไมถึงลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ และทำไมถึงไม่ลงทุนในธุรกิจนั้น ๆ อย่างเช่น มีคนเคยถาม Warren Buffett ว่า อะไรคือการลงทุนที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ของเขา เขาตอบว่า การที่เขาไม่ได้ลงทุนในธุรกิจอย่าง Google, Amazon หรือ Facebook เพราะเขาไม่มีความรู้และไม่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโลโนยีเลย ดังนั้น เขาก็เลยพลาดลงทุนในบริษัทที่กลายเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ณ ขณะนี้
กฎข้อที่ 13 – จงเล่นในเกมของคุณ อย่าเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น (PLAY YOUR GAME, DON’T COMPARE)
หากย้อนกลับไปที่กฎข้อที่ 3 ที่ว่า เกมการเงินคือ Double Game หรือการเพิ่มเงินเป็นทวีคูณในทุก ๆ ปี ซึ่งจุดสตาร์ทของเกมแต่ละคนนั้นเริ่มไม่เท่ากัน เช่น หากคุณมีเงินตั้งต้นอยู่ที่ 8,000 คุณไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันกับคนที่มีเงินตั้งต้น 512,000 ได้ และเช่นเดียวกัน คุณไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันกับคนที่มีเงินตั้งต้น 1,000 ได้ เพราะวิธีการในแต่ละขั้นตอนนั้นมีวิธีการทำเงินที่แตกต่างกัน อธิบายให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ ในตอนเริ่มต้น หากคุณใช้วิธีเดิม มันอาจจะยังได้ผลอยู่ แต่เมื่อในปีต่อ ๆ ไป คุณไม่สามารถใช้วิธีเดิมได้แล้ว เพราะมันไม่สามารถทำให้เงินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวได้ ดังนั้น สมองของคุณจะสั่งให้คุณเริ่มค้นหาวิธีการใหม่ ๆ ที่ดีกว่าเดิมขึ้นไปเรื่อย ๆ นั่นเอง
กฎข้อที่ 14 – ตัวแปรต่าง ๆ ในตลาดการเงิน (INDEX)
แน่นอนว่า ตลาดการเงินนั้นมีตัวแปรที่มีทั้งขึ้นและลง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมมันได้ แต่สิ่งที่เราสามารถควบคุมได้ก็คือ หากเรามีธุรกิจของเราเอง เราก็สามารถทำบางอย่างเพื่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะเพิ่มการหาลูกค้าใหม่ และขายสินค้าใหม่ให้ลูกค้าเก่า ดังนั้น จงโฟกัสที่ธุรกิจของเรา โฟกัสที่เป้าหมายของเรา
กฎข้อที่ 15 – จงเป็นเพื่อนกับคนที่มีความสามารถในการทำเงินได้ (BEFRIEND MONEY MAKERS)
ในที่นี้หมายถึงให้คุณคบหาคบค้าสมาคมกับคนที่มีความสามารถในการสร้างเงิน เสกเงิน เรียกเงินเข้ากระเป๋าตัวเองได้จากธุรกิจของเขา(อย่างสุจริต) ลองตีซี้ หาโอกาสไปจิบเบียร์ หาโอกาสไปท่องเที่ยว พูดคุย เป็นเพื่อนบ้าน แล้วลองดูว่า ความคิดความอ่านของคนเหล่านี้เขาคิดกันอย่างไร และพวกเขาใช้ชีวิตกันแบบไหน และเราชอบชีวิตแบบที่พวกเขาเป็นอยู่หรือไม่ ถ้าชอบ จงเป็นเพื่อนกับพวกเขาและซึมซับลไฟ์สไตล์ของพวกเขาเหล่านั้น และเรียนรู้ที่จะเป็นอย่างพวกเขา
กฎข้อที่ 16 – การกระจายการลงทุนเป็นเรื่องของคนใจตุ๊ด (DIVERSIFICATION IS FOR ABSOLUTE SISSIES)
เจอหัวข้อนี้เข้าใจอาจจะสะดุ้งโหย๋ง แต่การกระจายความเสี่ยง ความเสี่ยงน้อย ๆ นั้นเหมาะกับคนที่อายุมาก ๆ วัยหลังเกษียณและมีเงินในบัญชีหลายล้านแล้วซะมากกว่า เพราะเมื่ออายุเยอะ ความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงก็ยิ่งน้อยลง เนื่องจากเหลือเวลาไม่มากหากพลาดท่าในการลงทุน อีกทั้งการกระจายความเสี่ยง มักมีผลตอบแทนที่น้อยตามมา หากนำกลยุทธ์นี้มาใช้กับคนวัยทำงาน ก็อาจกินเวลา 20-40 ปี ที่กว่าจะมีเงินเก็บหลักล้าน
กฎข้อที่ 17 – มันคือเกมของการใช้พลังทวี (THE GAME IS ABOUT LEVERAGE)
Leverage หรือพลังทวีนั้น คือการออกแรงน้อยลงแต่สามารถได้ผลลัพธ์ที่มากขึ้น ซึ่งการที่จะทำแบบนั้นได้จะต้องมีเครื่องทุ่นแรง หากนำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ในการทำให้ธุรกิจเติบโต ซึ่งคำถามที่คุณควรตั้งกับธุรกิจของคุณก็คือ
- จะเพิ่มยอดขายโดยใช้พลังทวีอย่างไรได้บ้าง
- จะทำอย่างไรให้คนรู้จักธุรกิจของคุณได้มากขึ้นโดยใช้พลังทวี
- จะแตกไลน์ธุรกิจเพิ่มขึ้นโดยใช้พลังทวีอย่างไรได้บ้าง
- ทำอย่างไรถึงจะได้ลูกค้าเร็วยิ่งขึ้นโดยใช้พลังทวี
- ทำอย่างไรธุรกิจของคุณจะเติบโตเร็วยิ่งขึ้นจากการใช้พลังทวี
ซึ่งคุณสามารถดูวิธีการใช้ 5 วิธีทำน้อยให้ได้มาก การใช้พลัง Leverage ได้ที่นี่
กฎข้อที่ 18 – การวางตำแหน่งของตนเองในธุรกิจ (POSITIONING)
Positioning ในที่นี้ Patrick หมายถึง การที่เราไปเข้าทำงานหรือเข้าร่วมกับธุรกิจนั้น ๆ ควรวางตัวในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง, ผู้ถือหุ้นหรือผู้ร่วมเดินทางไปสู่ความสำเร็จในฐานะที่เป็นคนสำคัญของธุรกิจ ดูตัวอย่างได้จาก Sean Parker ที่ได้มีโอกาสเข้าไปคุยกับ Mark Zuckerberg หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Facebook ซึ่งจากเดิมที่ Sean Parker เป็นแค่คนนอก แต่คนวางตำแหน่งด้วยการเป็นคนนำพา Mark Zuckerberg ไปพบกับนายทุนรายใหญ่อย่าง Peter Thiel ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งระบบการชำระเงินออนไลน์อย่าง Paypal ที่ขายกิจการไปให้กับเว็บไซต์ประมูลยักษ์ใหญ่อย่าง eBay ได้หลายพันล้านเหรียญฯ ซึ่งการนัดพบของ Sean Parker ในครั้งนี้ทำให้เขากลายเป็นคนสำคัญ เนื่องจากทำให้ Facebook ได้รับเงินทุนก้อนใหญ่เป็นก้อนแรกด้วยมูลค่ากว่า 500,000 ดอลล่าร์ฯ (หรือราว ๆ กว่า 16 ล้านบาท) ซึ่งทำให้ Sean Parker ได้รับผลตอบแทนจาก Mark Zuckerberg ในรูปแบบของผู้ถือหุ้นของ Facebook แถมยังได้เป็นประธานบริษัทคนแรกของ Facebook อีกด้วย
กฎข้อที่ 19 – ใช้กลยุทธ์ในการร่วมมือกับหุ้นส่วน (STRATEGIC PARTNERSHIPS)
จากกฎข้อที่ 15 ที่ให้คุณคบค้าสมาคมเป็นเพื่อนกับคนที่สามารถสร้างเงินจากธุรกิจได้ เอาไว้ให้มากที่สุด ยิ่งคุณแวดล้อมไปด้วยเพื่อนที่ทำธุรกิจเก่ง ๆ มากเท่าไหร่ ก็โอกาสที่คุณจะเติบโตแบบก้าวกระโดดก็เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น
กฎข้อที่ 20 – อย่าหลงระเริงไปกับการได้รับเงินโต (BIG CHECK SYNDROME)
ถ้าให้คุณเลือกระหว่าง การที่คุณได้เงินสดทันทีจำนวน 5 แสนบาท กับอีกตัวเลือกหนึ่งคือ คุณจะได้รับการโอนเงินปีละ 1 แสนบาท และได้รับต่อเนื่องอย่างแน่นอนไปอีก 20 ปี คุณจะเลือกข้อไหน ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่เลือกทั้งสองข้อด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป
แต่ Patrick อยากให้ตระหนักว่า หากคุณยังจำได้ว่าเกมการเงินก็คือ Double Game หรือการเพิ่มรายได้เป็นทวีคูณในทุก ๆ ปี ซึ่งปัญหาก็คือ หากอยู่ ๆ คุณได้เงินก้อนโตมาจำนวน 5 แสนบาท โจทย์ของคุณก็คือ ทำยังไงปีหน้าถึงจะทำให้เงินก้อนนี้กลายเป็น 1 ล้านบาท ตามเกม Double ซึ่งแน่นอนว่า หากคุณข้ามเลเวลต้น ๆ มาเล่นเลเวลสูง ๆ เลย คุณจะไม่มีความรู้ทางการเงินมากพอจะทำให้เงินก้อนนี้มันงอกเงย และท้ายที่สุด คนส่วนใหญ่จะกลายเป็นสามล้อถูกหวย ที่แม้จะถูกรางวัลล็อตตารี่เป็นสิบล้าน แต่พอผ่านไปเพียง 1 ปี กลับเหลือเงินในบัญชีเท่า ๆ กับก่อนถูกหวย หรือแย่กว่านั้นคือ เป็นหนี้ยิ่งกว่าเดิม
ส่วนเงินอีกข้อหนึ่งคือปีละ 1 แสนบาท รวมกัน 20 ปี ก็เป็นเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งหากบวกลบค่าเงินเฟ้อแล้ว ก็ยังคงได้มากกว่าเงินข้อแรกอยู่ดี Patrick จึงให้ความสำคัญกับการทำรายได้ต่อเดือนอย่างสม่ำเสมอ และค่อย ๆ เพิ่มขึ้นตาม Double Game
และนี่ก็คือกฎการเงินทั้ง 20 ข้อ ที่ Patrick Bet-David ได้สอนเราเอาไว้ ทีนี้ ก็ขึ้นอยู่กับผู้เล่นแต่ละคนแล้วว่า จะสามารถนำกฎการเงินเหล่านี้ไปใช้ในเกมการเงินชีวิตจริงได้เป็นประโยชน์มากกว่ากัน
และแน่นอนว่าเมื่อมันขึ้นชื่อว่าเกม เป็นธรรมดาที่จะมีทั้งผู้เล่นที่แพ้และชนะ ผู้เล่นที่ดีและผู้เล่นที่ห่วยแตก แต่ข้อดีก็คือ แม้ว่าคุณจะแพ้ในเกมการเงิน แต่คุณก็สามารถเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ หากคุณยังไม่เลิกเล่นเกมนี้ไปซะก่อน Good Luck!
Resource