Site icon Blue O'Clock

วิธีเตรียมตัวรับมือเมื่อตลาด RESET ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย by Mark Tilbury

Mark Tilbury

The Recession หรือสภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องพบเจอกับวิกฤตทางการเงินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคล ที่อาจจะต้องถูกปลดออกจากที่ทำงาน บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ปิดตัวลง ประเทศย่ำแย่ ข้าวยากหมากแพง ผู้คนอดอยากปากแห้ง

แต่ถึงกระนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ ก็กลับมีคนร่ำรวยขึ้นมาอย่างมหาศาล คำถามก็คือ พวกเขาเหล่านั้นทำเงินอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้?

และนี่คือคำตอบจาก Mark Tilbury นักธุรกิจ เศรษฐีเงินล้านที่สร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง และ Youtuber ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.3 ล้านคน และ Tiktoker ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 7 ล้านคน จะมาอธิบายภายในเนื้อหานี้

โดย Mark เริ่มต้นด้วยการเล่าย้อนกลับไปในปี 2008 – 2009 ที่โลกเกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งในช่วงนั้นก็เกิดวิกฤต subprime mortgage crisis หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ธนาคารสหรัฐฯ ปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้ที่มีเครดิตต่ำ ประมาณว่ารู้ทั้งรู้ว่าลูกหนี้กลุ่มนี้ไม่มีปัญญาจ่ายหนี้คืนแน่ ๆ แต่ก็ยังปล่อยกู้ และแน่นอนว่าเมื่อไม่สามารถเรียกเก็บหนี้สินก้อนนี้ได้ เศรษฐกิจก็ได้พังลงเป็นโดมิโนทั่วโลก ทั้งราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกต่ำ ราคาหุ้นดิ่งเหว ผู้คนต่างแย่งกันขายบ้านเพื่อพยายามเปลี่ยนเป็นเงินสดให้เร็วที่สุด แต่ผู้คนส่วนใหญ่ในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ ก็ไม่มีใครอยากจับจ่ายใช้สอย เพราะกลัวไม่มีเงินใช้ในยามวิกฤต ดังนั้นช่วงนี้ผู้คนก็มักจะเก็บออมเงินซะเป็นส่วนใหญ่

แต่ในขณะที่ชาว millionaire หรือเศรษฐีเงินล้านส่วนใหญ่ กลับเป็นกลไกสำคัญในช่วงที่โลกเกิดสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยเช่นนี้ เพราะพวกเขาเล็งเห็นว่า นี่คือเวลาที่ตลาดทรัพย์สินต่าง ๆ อยู่ในช่วงรีเซ็ตราคาใหม่ หรือพูดให้เข้าใจได้ง่ายก็คือ ราคาทรัพย์สินได้กลับมาสู่จุดที่ราคาของมันถูกกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นและมีโอกาสที่ทรัพย์สินเหล่านั้นจะเติบโตสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดการรีเซ็ตครั้งใหม่ และดูเหมือนว่า ในช่วงนี้โลกของเราก็อาจจะกำลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่ว่ามานั้นอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้

โดยในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ เรามักจะได้ยินประโญคในทำนองที่ว่า “ได้ว่ากลับไปทำงานแล้ว” ซึ่งมันหมายถึงว่า ในช่วงที่ตลาดเป็นขาขึ้น มีการทำกำไรได้อย่างมากมายในช่วงดังกล่าว ซึ่งผู้คนที่ทำการลงทุนในช่วงนี้ ก็มักจะได้ผลกำไรอย่างงดงาม เรียกได้ว่า ไม่ต้องทำงานก็มีกินมีใช้จากการถือครองทรัพย์สินที่ได้ปันผล หรือทำการขายทำกำไรออกไป

แต่พอมาถึงช่วงขาลง ไม่สามารถทำกำไรได้มากมายอะไรนัก แถมปันผลก็อาจจะไม่มีเลย สิ่งเดียวที่ทำได้ในช่วงนี้ก็คือ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เพื่อหาเงินสดมากินมาใช้และเตรียมเข้าช้อนซื้อทรัพย์สินที่ราคากำลังจะ ON SALE นั่นเอง

แล้วสาเหตุที่เกิด Recession นั้นมันเกิดขึ้นได้อย่างไรในช่วงนี้? โดย Mark บอกว่า มันไม่ได้เกิดขึ้นทันทีที่มีโรคระบาดอย่าง covid-19 เกิดขึ้น แต่มันเกิดในช่วงที่ประเทศถูก lockdown ให้ผู้คนต้องหยุดอยู่กับบ้าน ไม่ได้ทำงาน แถมยังได้รับเงินแจกจ่ายจากทางรัฐบาลแบบฟรี ๆ

ซึ่งในยุคนี้ต้องยอมรับว่า มันเป็นยุครุ่งเรืองในการลงทุนในตลาดหุ้นอย่าง S&P 500 ที่เป็นตลาดกระทิง เป็นตลาดขาขึ้นมานับทศวรรษ ขึ้นนานนับสิบปีแบบไม่มีหยุดพักเลย

ดังนั้น ผู้คนจึงคิดว่าการใช้เงินได้รับฟรี ๆ ดังกล่าว เพื่อนำไปลงทุนนั้น เป็นความคิดที่เข้าท่า เพราะมันมีแต่ขึ้นเอา ๆ นี่มันเครื่องผลิตเงินที่สุดยอดจริง ๆ งานก็ไม่ต้องทำ เงินก็ได้ฟรี แถมมีกำไรเมื่อนำไปลงทุน สบายสุด ๆ

แต่พอหมดช่วงแจกเงิน และธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ก็ได้ทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น การจะกู้เงินมาต่อยอดหรือขยายธุรกิจต่อนั้นก็จะทำให้มีต้นทุนที่สูงขึ้น

ซึ่งถ้าเปรียบกับการเล่นเกม นักลงทุนหน้าใหม่เหล่านี้ ที่เข้ามาในวงการด้วยโหมด easy หรือโหมดง่ายสุด แต่จู่ ๆ เกมก็เปลี่ยนเป็นโหมด very hard ในทันทีทันใด ดังนั้น มันจะเป็นอะไรที่ยากเอามาก ๆ สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่เหล่านี้ ซึ่งถ้าพวกเขาทนไม่ได้ ทนไม่ไหว พวกเขาก็จะไม่ไปต่อ ขายทรัพย์สินในราคาที่ขาดทุนเพราะกลัวจะสูญเสียไปมากกว่าที่เป็นอยู่

แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ทิ้งเกมดังกล่าว แต่มุ่งหน้าศึกษาหาความรู้ต่อไป เพื่อที่จะเล่นเกมการลงทุนนี้ให้เก่งขึ้น

แต่ในขณะคนที่เคยเล่นเกมการลงทุนในโหมด very hard มาก่อนหน้านี้นั้น พอพวกเขามาเจอโหมด easy มันก็จะเป็นอะไรที่ง่ายเอามาก ๆ สำหรับผู้เล่นที่แข็งแกร่งเหล่านี้นั่นเอง

แต่การแจกเงินก็เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ ที่มันถูกปริ้นท์ออกมาเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้เงินดอลล่าร์สหรัฐฯ มันด้อยค่าลง หรือที่เรารู้จักกันว่ามันเกิดค่าเงินเฟ้อหรือ Inflation ซึ่งมันแสดงเป็นตัวเลขผ่านค่า CPI : Consumer Price Index หรือดัชีราคาผู้บริโภค ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีค่า Inflation ในเดือน มิถุนายน 2022 ที่ผ่านมาสูงถึง 9.1% ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สูงสุดในรอบ 40 ปี ส่วนในประเทศไทย ในเดือนมิถนายน พ.ศ. 2565 นั้น มีค่า Inflation สูงถึง 7.66% ซึ่งนับว่าสูงสุดในรอบ 13 ปีเลยทีเดียว

ซึ่งค่า CPI ที่สูงนี้ ส่วนใหญ่ก็เกิดมาจากการที่ราคาอาหารและเชื้อเพลิงมีการปรับตัวที่สูงขึ้น

ซึ่งมาตรการที่ทาง FED หรือทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ใช้เพื่อที่จะพยายามลดค่าเงินเฟ้อนั้นก็คือ การขึ้นดอกเบี้ยให้สูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาทาง FED ก็มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบพรวดเดียว 0.75% ซึ่งเป็นการขึ้นต่อครั้งที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้ว

ทีนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ การกู้ยืมเงินก็จะมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น หากกู้เงินเพื่อเช่าซื้อที่อยู่อาศัยหรือกู้ยืมเงินจากบัตรเครดิต ผู้กู้ก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเยอะขึ้น ทำให้มีรายได้ไปใช้ในส่วนอื่น ๆ ลดลง ดังนั้นถ้าว่ากันในทางทฤษฎีแล้วนั้น เมื่อมีความต้องการในการซื้อสินค้าที่ลดลง สิ่งที่จะตามมาก็คือ ร้านค้าต่าง ๆ ก็จะต้องทำการลดราคาให้สินค้าให้ต่ำลง ค่าเงินเฟ้อก็จะลดลง แต่สิ่งที่ตามมาด้วยก็คือ รายได้บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ก็จะลดลง พอออกรายงานงบดุลออกมาก็จะต่ำลง ส่งผลให้ราคาหุ้นอาจตกลงด้วย ซึ่งมันก็มีทั้งแบบราคาหุ้นค่อย ๆ ตกลง(Soft landing) หรืออาจจะตกลงแบบรุนแรงเลยก็ได้(Hard landing)

ซึ่งจังหวะที่ตกลงนั้นแหละ คือโอกาสในการทำกำไรอย่างมหาศาล แต่คำถามก็คือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า มันตกถึงจุดต่ำสุดแล้ว เพราะเรามักจะได้ยินประโยคที่มักจะพูดกันบ่อย ๆ ในการลงทุนในสภาวะตลาดเป็นขาลงนั้น อย่างเช่น “เหวในเหว” ความหมายคือ แม้ว่าราคาหุ้นอาจตกลงมาแล้วมากกว่า -80% แต่มันอาจจะตกได้อีก -80% ของราคาที่มันตกมาแล้ว -80% ก็เป็นได้ เพราะถ้าหากลองย้อนกลับไปดูข่าวในช่วงวิกฤตปี 2008-2009 นั้นก็จะพบว่า มีแต่ข่าวร้ายแบบรายวัน เรียกได้ว่า มันเหมือนกับวันโลกแตกเลยยังไงยังงั้น ซึ่งพอผ่านมาถึงวันนี้เราก็พบคำตอบแล้วว่า โลกก็ยังไม่แตกนี่นา

และอีกประโยคหนึ่งที่เรามักจะได้ยินที่ปรึกษาด้านการลงทุนพูดอยู่บ่อย ๆ ก็คือ “สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่สามารถใช้การันตีผลลัพธ์ในอนาคตได้” ซึ่งประโยคดังกล่าว Mark Tilbury บอกว่า พวกเขาต้องพูดแบบนั้น เพราะกฎหมายบังคับไม่ให้พวกเขาพูดเพื่อชี้ชวนผู้คนให้ทำการลงทุน

แต่ Mark กลับมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมันสามารถนำมาประมวลผลเพื่อคำนวณสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ทำอย่างไรก็ได้ผลอย่างนั้น” นั่นก็หมายถึง เราสามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ในอนาคตได้จากเหตุปัจจัยที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วนั่นเอง

ดังนั้น หากลองดูค่าเฉลี่ยของราคา asset แล้วคุณก็จะพบว่า หากช่วงใดที่มันดูดีเกินกว่าค่าเฉลี่ยมาก ๆ นั่นแสดงว่า มันอาจจะใกล้เวลาระเบิดเข้าไปเต็มทีแล้ว เพราะอะไรที่มันมีราคาสูงมากจนเกินค่าเฉลี่ยไป สุดท้ายตลาดมันก็จะปรับตัวกลับลงมาที่ราคาค่าเฉลี่ยอยู่บ่อย ๆ นี่แหละคือช่วงที่ตลาดกำลังทำการ reset ตัวเอง

ซึ่งจากเหตุการณ์โรคระบาด covid-19 เราก็จะพบว่า มันได้เป็นปรากฏการณ์ที่เป็นตัวเร่งให้บริษัท Tech Company ต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Apple สามารถทำยอดขาย iPhone ได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรืออย่าง Zoom กับ Netflix ก็มีคน Subscribe เป็นสมาชิกสูงสุดตลอดกาล

แต่ไม่ว่าอะไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจ มีขึ้นก็มีลง มันเป็นวัฏจักร หรือที่เราเรียกมันว่า The Economic Cycle แต่ทุก ๆ ครั้งที่เศรษฐกิจมันตกลงมา เราก็จะพบว่า ในภาพใหญ่ ระบบเศรษฐกิจก็ยังคงเติบโตกว่าในอดีตที่ผ่านมาอยู่ดี

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าในระบบเศรษฐกิจ ภาวะ recession นั้น มันก็เป็นเพียงการ reset เศรษฐกิจใหม่ เพื่อก้าวไปสู่จุดที่สูงกว่าในอนาคต

ซึ่งจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่อาจใหญ่ที่สุดในช่วงชีวิตของเราเลยก็เป็นได้ นับตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 2008 – 2009 แต่วิกฤตครั้งนี้ก็อาจจะไม่เหมือนกับวิกฤตครั้งก่อนเสียทีเดียว

โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้จำแนกสภาวะเศรษฐกิจถดถอยออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ก็คือ

ประเภทที่ 1 – Supply Shock ของขาดตลาด คือสภาวะที่บริษัทห้างร้านต่าง ๆ ไม่สามารถผลิตสินค้าได้เร็วพอกับความต้องการ

ประเภทที่ 2 – Demand Drawdown – อุปสงค์หรือความต้องการของตลาดลดลง นั่นก็หมายถึง บริษัทรวมถึงครัวเรือนต่าง ๆ มีการใช้จ่ายที่น้อยลง ลดภาระค่าใช้จ่าย อันเนื่องมาจากการกลัวความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ซึ่งส่วนตัวของ Mark Tilbury นั้นเขาก็ได้เคยผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาในช่วงที่เกิดสภาวะฟองสบู่ดอทคอมในช่วงปี 2000

ดังนั้น หากคุณต้องการที่จะลงทุน คุณเลือกที่จะเข้าตลาดเมื่อราคาสูง ๆ หรือราคาต่ำ ๆ กันล่ะ?

ส่วนความคิดเห็นจาก Mark เขาบอกว่า ก่อนการลงทุนใด ๆ ก็ตาม เขาจะทำการสำรองเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉินเผื่อเอาไว้ให้พอกับค่าใช้จ่ายรายเดือน ราว ๆ 3-5 เดือน ในกรณีที่ไม่มีรายได้จากช่องทางอื่น ๆ เข้ามาเลย

ต่อมาก็เป็นวิธีในการลงทุนสไตล์ของ Mark Tilbury

ขั้นตอนที่ 1 – Hold Cash ถือเงินสดเอาไว้

จนกว่าตลาดจะพ้นช่วงตลาดหมีและมีสัญญาณบวกกลับเป็นขาขึ้นในตลาดกระทิง แล้วค่อยเข้าลงทุน ซึ่งในหลาย ๆ ครั้งก็จะมีสัญญาณเด้งขึ้นหลอกแล้วลงต่อก็มี นั่นก็ถือว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคกราฟของแต่ละคน

ขั้นตอนที่ 2 – YOLO! : You only live once ชีวิตเกิดมาแค่หนเดียว

ย้ายเงินสดเข้าสู่ตลาดการลงทุน เมื่อถึงจุดที่ตลาดทำการ reset เพราะเมื่อเทียบราคาทรัพย์สินในปีก่อนหน้านี้นั้นในช่วงรีเซ็ตจะมีราคาถูกกว่า แต่ก็มีข้อควรระวังก็คือ หากตลาดทำการรีเซ็ตลงหนักกว่าปกติ ราคามันอาจจะยังลงต่อได้อีก ดังนั้น กว่าจะได้กำไรอาจจะต้องถือยาวหลายปี อาจกินเวลา 3 ปี 5 ปี 7 ปี ขึ้นไป

ขั้นตอนที่ 3 – Slow buy-ins ค่อย ๆ เข้าลงทุนทีละน้อย

จากขั้นตอนที่ 2 ก็จะพบว่า หากทำการลงทุนด้วยเงินก้อนใหญ่ในคราวเดียวนั้น อาจจะทำให้ได้ราคาทรัพย์สินในราคาที่สูง ในขณะที่การแบ่งไม้เข้าซื้อทีละไม้ หรือทยอยซื้อด้วยเทคนิค DCA : Dollar Cost Averaging ซื้อแบบถัวเฉลี่ยด้วยเงินจำนวนที่เท่ากันในละแต่ละครั้ง และเว้นระยะเวลาในการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ อาจเข้าซื้อแบบรายสัปดาห์ หรือรายเดือน เป็นต้น

ซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้ราคาที่ต่ำที่สุด หรือจุดทำกำไรสูงสุด แต่ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการเข้าซื้อที่ราคาสูงสุดเช่นกัน แต่ก็ต้องพึงระวังด้วยว่า การลงทุนด้วยเทคนิค DCA นั้น จะต้องลงทุนในทรัพย์สินที่มีการเติบโตในระยะยาวเท่านั้น เพราะหากทรัพย์สินดังกล่าว มีแต่จะร่วงลงและไม่มีแววเป็นขาขึ้นนั้น ต่อให้ถัวเฉลี่ยได้ในราคาที่ต่ำมาก ๆ ก็ขาดทุนอยู่วันยังค่ำ

ซึ่งส่วนตัวของ Mark Tilbury นั้นเขาพบว่า การลงทุนใน Index Fund นั้น มักทำผลตอบแทนได้ดีหลังจากที่ตลาดทำการรีเซ็ตไปแล้ว มันมักจะเติบโตกันแบบยาว ๆ

และนอกจากนั้นเขาก็ลงทุนในหุ้นบริษัทแบบรายตัว ในบริษัทที่เขาเชื่อมั่นว่ามันจะเติบโตในระยะยาว

แต่เขาจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยงสูง บริษัทที่มีขนาดเล็ก ที่มีความผันผวนสูง ซึ่งหากตลาดดังกล่าวมีความผันผวนที่สูง เขาจะลงเงินเป็นสัดส่วนที่น้อย และเลือกลงทุนแต่ตัวท็อป ๆ ของตลาดนั้น ๆ เช่น หากเป็นการลงทุนในตลาด crypto เขาก็เลือกลงทุนแค่เพียง bitcoin กับ ethereum ที่มี marketcap ใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของตลาดคริปโตเป็นหลัก และมักจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10% จากเงินลงทุนในพอร์ททั้งหมด เป็นต้น

ซึ่งเงินลงทุนที่ว่ามานั้น Mark บอกว่า มันควรเป็นเงินเย็นที่เราไม่ได้มีความจำเป็นที่จะแตะต้องมันเลยในอีก 10 ปีข้างหน้า และจากประสบการณ์ในการเข้าลงทุนในช่วงวิกฤตในรอบที่ผ่าน ๆ มา ส่วนตัวของเขาเองนั้น ก็สามารถทำกำไรได้มากกว่า $1 ล้านดอลล่าร์ฯ มาแล้ว เขาจึงคิดว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงินของโลกนั้น มันก็ยังคงมีโอกาสอยู่เสมอ

แต่แน่นอนว่า การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่เสมอ และนี่ก็เป็นเพียงความคิดเห็นจาก Mark Tilbury เพียงคนเดียว ดังนั้นนี่ไม่ใช่คำแนะนำในการลงทุน

Resources

Exit mobile version