ประวัติ Tim Ferriss ต้นฉบับ THE NEW RICH ทำงานสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง ผู้เป็นเลิศในการเอาตัวเองออกจากกิจการ
Tim Ferriss คือผู้ประกอบการสุดแนว ที่ประดิษฐ์คำว่า The New Rich หรือเศรษฐีมิติใหม่ ที่เขาใช้ในหนังสือแจ้งเกิดที่ชื่อว่า The 4-hour Workweek โดย Tim ได้ให้คำจำกัดความของ New Rich ว่า เศรษฐีมิติใหม่นั้น ไม่ใช่แต่เพียงมีเงินอย่างเดียวก็ถือว่ารวย แต่ต้องมีเวลามากพอที่จะพาตัวเองไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่ฝันเอาไว้ ในอีกความหมายนึงก็คือ นอกจากจะต้องสร้างธุรกิจที่ทำกำไรให้ได้แล้ว คุณจำเป็นต้องเอาตัวเองออกจากระบบได้ด้วย หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ในระหว่างที่ตัวคุณไปพักผ่อน ท่องเที่ยว เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้เข้าออฟฟิศเลย คุณก็ต้องมั่นใจว่า ธุรกิจของคุณนั้น ก็ยังคงผลิตเงินให้คุณอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น นอกจากจะต้องร่ำรวยเงินทองแล้ว ยังต้องร่ำรวยเวลาด้วย
แถม Tim Ferriss นั้น เป็นผู้ประกอบการที่เป็นอินดี้ตัวพ่อ เพราะในระหว่างที่เขาเป็นเจ้าของกิจการนั้น เขาก็มักแว่บไปทำกิจกรรมสุดแนว ไม่ว่าจะเป็น การเป็นชาวอเมริกันคนแรกที่ได้เป็นเจ้าของสถิติกินเนสส์บุ๊คในการเต้นแทงโก้, การเป็นแชมป์มวยจีนระดับชาติที่ชนะคู่ต่อสู้ด้วยการทำ TKO ทุกแมชต์ แถมยังเคยเป็นนักเต้นเบรกแดนซ์ของ MTV ประเทศไต้หวัน และยังมีกิจกรรมสุดอินดี้อีกมากมายนับไม่ถ้วนที่ยังไม่ได้กล่าวถึง
Timothy Ferriss หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ Tim Ferriss เกิดเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 1977 ณ นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้เข้าศึกษาระดับชั้นมหาวิทยาลัยที่ Princeton ในปี 1996 ซึ่งในระหว่างการเข้าเรียนที่นี่ Tim ก็เริ่มมีแนวคิดที่อยากจะเป็นเศรษฐีกับเขาบ้าง โดยเขาเริ่มต้นสร้าง AudioBook ที่ชื่อว่า “How I beat the ivy league” เป็นหนังสือเสียงสำหรับการสอบเทคนิคการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ด้วยการใช้เงินเก็บตลอด 3 ปีที่ทำงานรับจ็อบผลิตมาผลิตเป็นเทป 500 ชุดด้วยกัน แต่ปรากฏว่าขายไม่ออกเลยสักกะม้วนเดียว
ซึ่งในปี 1998 Tim ได้เริ่มต้นกิจการใหม่ ด้วยการเปิดสัมมนาในหัวข้อ “เทคนิคการในการอ่านหนังสือให้เร็วเพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายใน 3 ชั่วโมง” ในราคาคนละ 50 เหรียญฯ ซึ่งมีคนลงสมัครเป็นจำนวน 32 คน ได้เงินเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1600 เหรียญฯ โดยใช้เวลาจัดงานสัมมาประมาณ 3 ชั่วโมง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ เขามีรายได้จากกิจการนี้เฉลี่ย 533 เหรียญต่อชั่วโมง แม้ว่ารายได้จะค่อนข้างดี แต่ Tim ก็ยังไม่โอเคกับธุรกิจที่ต้องขายงานบริการ ไม่ว่าจะเป็น จะต้องเอาตัวเองเข้าไปสอน หรือแม้กระทั่งสอนจบ ก็ต้องคอยมานั่งตอบคำถามให้กับลูกค้า
และหลังจากที่เขาเรียนจบ เขาได้เริ่มต้นเป็นพนักงานออฟฟิศในปี 2001 กับบริษัท TrueSan Networks ซึ่งหลังจากทำงานมาได้หนึ่งปีกว่า ๆ เขาก็พบว่าจากพนักงานกว่า 150 คน เขาได้รับค่าจ้างมากกว่าอันดับบ้วยเพียงคนเดียวเท่านั้น ก็คือตำแหน่งพนักงานต้อนรับ เขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเล่นโซเชียลในเวลางาน และในท้ายที่สุดเขาก็ถูกไล่ออกในปี 2002
แต่ก่อนที่เขาจะลาออกมานั้น เขาก็ได้แอบเริ่มต้นทำธุรกิจเล็ก ๆ ด้วยการสั่งผลิตอาหารเสริมจากโรงงานที่รับผลิตและตีแบรนด์ให้ ด้วยการรูดบัตรเครดิตเป็นจำนวนเงินประมาณ 5,000 เหรียญฯ และในปี 2002-2003 เขาก็ได้จัดตั้งบริษัทที่ชื่อว่า BranQuicken และสามารถทำเงินได้มากกว่า 40,000 เหรียญฯ ต่อเดือน แต่มันก็ยังคงต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง โดยใช้เวลาในการทำงานเฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งมันก็ไม่ต่างจากการที่ทำงานในบริษัทเลย เพียงแต่ตอนนี้กำลังกินเงินเดือนจากบริษัทตัวเองเท่านั้นเอง
และก่อนที่เขาจะเริ่มประสาทกินกับงานที่บริษัทของตัวเอง เขาจึงออกแบบระบบการทำงานทุกอย่างใหม่หมด โดยมีเงื่อนไขง่าย ๆ ก็คือ ในระหว่างที่เขาไปท่องเที่ยวรอบโลก โดยใช้เวลาสัก 1-2 เดือน โดยไม่เข้าออฟฟิศเลยนั้น บริษัทจะต้องยังคงทำกำไรให้เขาได้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จนในท้ายที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ แถมยังมีกำไรเพิ่มจากเดิม 40% ด้วยซ้ำไป
ซึ่งหลักการที่เขาใช้ในการออกแบบระบบอัตโนมัติให้กับธุรกิจก็คือ การใช้ระบบ Outsources เป็นหลัก หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ อะไรที่จ้างได้จ้างหมด อย่าพยายามสร้างออฟฟิศใหญ่โตและรับพนักงานประจำเข้ามาบริษัทตัวเองมากเกินไป โดยเขาเริ่มต้นจากการจ้างบริษัทภายนอกให้ผลิตสินค้าและติดฉลากที่เป็นแบรนด์ของเขา หลังจากนั้นก็ใช้บริการบริษัทที่สามารถจัดเก็บสต็อคสินค้าและส่งของให้เขาได้ทันทีที่มีออเดอร์เข้ามาจากเว็บไซต์ E-commerce ที่เขาจ้างพนักงานที่สามารถทำงานจากที่บ้านให้ดูคำสั่งซื้อ ส่วนการตลาดนั้น เขาใช้ Google Adwords ในการยิงโฆษณาเป็นหลัก เพราะนอกจากจะใช้งบประมาณไม่มากแล้ว ยังได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจอย่างยิ่ง ด้วยการทดสอบโฆษณาจนกว่าจะได้โฆษณาที่ดีที่สุด แถมด้วยการใช้บริการทีมซับพอร์ทจากบริษัทภายนอก ให้คอยตอบคำถามจากลูกค้าอีกด้วย
และหลังจากที่เขาออกแบบธุรกิจด้วยการเอาตัวเองออกจากระบบได้แล้ว เขาก็ได้ขายบริษัทไปในปี 2010 และผันตัวไปเป็น นักเขียน นักพูด นักลงทุน และนักผจญภัย โดยเขาได้บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นลงในบลอกตัวส่วนที่ชื่อว่า Tim BLOG
และกว่าที่จะเป็น Tim Ferriss ที่ทุกคนรู้จักในวันนี้ผ่านผลงานที่ชื่อว่า The 4-hour Workweek ที่กว่าจะได้ตีพิมพ์นั้น เขาถูกสำนักพิมพ์ปฏิเสธมากกว่า 26 ครั้ง และในที่สุด สำนักพิมพ์ที่ 27 ที่ชื่อว่า Crown Publishing Group ตัดสินใจรับตีพิมพ์และออกสู่ตลาดครั้งแรกในปี 2007 และสามารถทำยอดขายได้ทั่วโลกมากกว่า 1.3 ล้านเล่ม และได้รับการแปลภาษาต่าง ๆ มากกว่า 35 ภาษาทั่วโลก และติดอันดับ The New York Times Bessellers ติดต่อกันอยู่หลายปี แม้ว่าจะผ่านมากกว่า 10 ปี แล้วหนังสือของเขาก็ยังติดอันดับขายดีบนเว็บไซต์ Amazon.com โดยติดอันดับ 10 หนังสือขายดี ในหมวดหมู่ Business & Money จนถึงปัจจุบัน ซึ่งกินเวลามาเป็น 10 ปีต่อเนื่องด้วยกัน
จากนั้นเขาจึงได้ออกหนังสือเล่มต่อ ๆ มา โดยใช้ชื่อแบรนด์ที่คุ้นหูอย่าง ‘The 4-hour’ ไม่ว่าจะเป็น
- The 4-hour Workweek (#1 New York Times Bessellers, #1 Wall Street Journal Bessellers)
- The 4-hour Body (#1 New York Times Bessellers)
- The 4-hour Chef (#1 Wall Street Journal Bessellers)
- Tools of Titans
- Tribe of Mentors
โดยหนังสือส่วนใหญ่นั้น จะเน้นไปที่เรื่องของการทำธุรกิจและพัฒนาตนเอง ทำให้เขาได้รับโอกาสในการออกสื่อและเชิญไปเป็นวิทยากรอยู่บ่อยครั้ง
แต่นั่นเป็นเพียงเบื้องหน้าที่เราได้เห็นว่าเขาประสบความสำเร็จมากเพียงใด แต่หากเราลองย้อนกลับไปดูในสิ่งที่เขาบันทึกเอาไว้บนบล็อกส่วนตัวก็จะพบว่า มีบทความ วีดีโอ พอร์ดคาสหรือเทปสัมภาษณ์ ที่เกี่ยวกับธุรกิจและไลฟสไตล์อยู่นับไม่ถ้วน
ดูได้จากรายการที่ชื่อว่า The Tim Ferriss Show ที่เขาเรียกชื่อเล่นให้กับมันว่าเป็น “Oprah of Audio” หรือเป็นรายการโชว์เกี่ยวกับสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงโด่งดังในรูปแบบของ Audio ซึ่งที่ผ่านมานั้น มีคนดาวน์โหลด Podcast ของเขาไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 100 ล้านดาวน์โหลด โดยยังได้รับการโหวตว่าเป็นรายการ Podcast ที่ดีที่สุดในปี 2015และปี 2016 อีกด้วย
และ ณ ปัจจุบันนั้น เขายังได้เป็นที่ปรึกษาและลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพอีกกว่า 40 บริษัท ที่มีบริษัทชั้นนำอย่าง Facebook, Twitter, Uber, Shopify, StumbleUpon, Digg, 9GAG และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีร้อยล้านได้ในที่สุด ด้วยการสร้างฐานะขึ้นมาได้ด้วยตนเอง โดยได้รับฉายาว่า “The Superman of Silicon Valley”
“You are the average of the five people you associate with most.”
ตัวคุณคือค่าเฉลี่ยของคนห้าคนที่คุณใช้เวลาคบค้าสมาคมด้วยมากที่สุด
Tim Ferriss
Resoruces