Blue O'Clock

สตูดิโอผลิตและพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้านการลงทุน ธุรกิจ จิตวิทยาและการพัฒนาตนเอง อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

How to

10 บทเรียนความล้มเหลวของ Elon Musk ชายผู้ใฝ่ฝันที่จะนำพามนุษยชาติไปตั้งรกรากบนดาวอังคาร

ในยุคนี้ในวงการรักธุรกิจคงไม่มีใครแทบไม่รู้จักชายที่ชื่อว่า Elon Musk เจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Tesla Motors และ SpaceX รวมไปถึงผู้ร่วมก่อตั้งแพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์อันดับต้น ๆ ของโลกอย่าง Paypal โดย ณ ปัจจุบันในปี 2020 เขามีทรัพย์อยู่ที่ 28.8 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 9.4 แสนล้านบาท และเป็นมหาเศรษฐีอันดับที่ 23 ของโลก ในวัย 48 ปี

แต่ใครจะรู้ว่า ก่อนที่เขาจะก้าวมาถึงจุดนี้ จะต้องผ่านความยากลำบากและความล้มเหลวอะไรมาบ้าง และเราสามารถเรียนรู้อะไรจากความล้มเหลวของ Elon Musk เพื่อมาปรับใช้กับตัวเราได้บ้าง

บทเรียนที่ 1 Bullying การถูกกลั่นแกล้ง

Elon Musk นั้นเกิดที่ประเทศ South Africa โดยมีคุณพ่อเป็นวิศวกรและคุณแม่เป็นนางแบบ แต่ก็มีปัญหาทำให้พ่อและแม่ของเขาต้องแยกกันอยู่ ทำให้สิ่งเดียวที่คอยเป็นเพื่อนยามเหงาของเขาก็คือหนังสือ เขาจึงกลายเป็นเด็ก Nerd ที่ค่อนข้างเก็บตัวและหมกอยู่แต่ในห้องสมุดซะเป็นส่วนใหญ่ และไม่ค่อยเป็นที่ต้องการของสังคมสักเท่าไหร่นัก และด้วยความที่เขาอายุน้อยและตัวเล็กกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทำให้เขาตกเป็นเป้าของการบูลลี่ที่ถูกกลั่นแกล้งอยู่เสมอ

โดยมีอยู่เหตุการณ์หนึ่งที่ค่อนข้างรุนแรง ซึ่งเขาโดนแกล้งด้วยการถูกผลักตกลงบันไดแถมยังโดนตุบทีซ้ำ ทำให้เขาถูกหามส่งเข้าโรงพยาบาลและหยุดเรียนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ และจากเหตุการณ์นั้นก็ทำให้เขามีปัญหาเรื่องระบบการหายใจลำบากติดตัวมาจนถึงทุกวันนี้

บทเรียนที่ 2 พลาดการทำงานกับบริษัท Netscape

บริษัท Netscape ถือว่าเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในช่วงยุคปี ’90 เป็นอย่างมาก โดยเป็นเว็บเบราว์เซอร์ที่เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ในยุคนั้น ที่ใคร ๆ ต่างก็อยากร่วมงานด้วย รวมไปถึง Elon Musk ที่ส่งจดหมายสมัครไปที่ Netscape แต่ไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ เนื่องจากเขาไม่มีพื้นฐานในด้านของวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เลย เขามีแต่ปริญญาด้านเศรษฐศาสตร์และฟิสิกส์ และเนื่องจากเขาไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ เขาจึงเดินทางไปที่สำนักงานออฟฟิศของ Netscape ถึงที่แต่เขากลับขี้อายเกินกว่าจะคุยกับใคร เขาจึงเดินกลับบ้านแบบมือเปล่า

แต่หลังจากที่เขากลับมา เขาก็ตัดสินใจที่จะสร้างธุรกิจขึ้นมาเองซะเลย ด้วยการเริ่มต้นธุรกิจ Zip2 ที่เป็นเว็บซอร์ฟแวร์ที่รวบรวมข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ บนเว็บไซต์ คล้าย ๆ กับสมุดหน้าเหลือง แต่เป็นในเวอร์ชั่นออนไลน์

ซึ่งถ้าในวันนั้นทาง Netscape รับเขาเข้าทำงานหรือ Elon Musk ไม่ได้ตัดสินใจทำ Zip2 อนาคตของทั้งสองในวันนี้ก็อาจจะแตกต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง

และดูเหมือนว่าความล้มเหลวนี้จะไม่ได้ดูใหญ่โตอะไรมากมายนัก แต่อย่าลืมว่า เขาพลาดโอกาสที่จะได้เข้าทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ณ ขณะนั้น เพียงเพราะด้วยความ “ขี้อาย” ซึ่งหลายต่อหลายคนก็พลาดโอกาสดี ๆ มานักต่อนัก ทั้ง ๆ ที่ตัวเองมีศักยภาพมากพอ ดังคำกล่าวที่ว่า “ด้านได้อายอด”

บทเรียนที่ 3 ถูกปลดจากตำแหน่ง CEO ของ Zip2

แม้ว่า Zip2 จะมีผู้ก่อตั้งเป็น Elon Musk กับน้องชายแท้ ๆ ของเขาอย่าง Kimbal Musk แต่บอร์ดผู้บริหารก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ Elon Musk ดำรงตำแหน่ง CEO ต่อไป โดยได้ปลด Elon Musk ออกจากการเป็น CEO โดยใช้เหตุผลว่า เขาไม่สามารถบริหารงานในส่วนที่ CEO จำเป็นต้องทำได้ และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือตัวของ Elon Musk นั้นไม่มีประสบการณ์ในการเป็น CEO มาก่อน จึงทำให้บอร์ดบริหารตกลงปลงใจหา CEO คนอื่นมาดำรงตำแหน่งแทน แต่ Elon Musk ก็ยังคงเก็บหุ้นของบริษัทเอาไว้อยู่

และต่อมาบริษัท Zip2 ก็ถูกซื้อกิจการไปด้วยมูลค่ากว่า 341 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 1 หมื่นล้านบาท โดยเขาได้ส่วนแบ่งไปประมาณ 22 ล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 680 ล้านบาท

บทเรียนที่ 4 ถูกปลดจากตำแหน่ง CEO ของ Paypal

และหลังจากที่ Elon Musk ได้ส่วนแบ่งจากการขาย Zip2 เขาก็ได้เริ่มต้นทำบริษัทใหม่โดยใช้ชื่อว่า X.com ซึ่งเป็นบริษัทรับชำระเงินออนไลน์ ที่ในภายหลังได้กลายมาเป็น Paypal.com โดยในเดือนเมษายน ปี 2000 เขาได้รับแต่งตั้งเป็น CEO ของ Paypal แต่หลังจากได้รับตำแหน่งได้ไม่นานเขาก็ได้มีปากเสียงโต้เถียงกับ CTO(Chief Technology Officer) ของบริษัท ซึ่งเป็นฝ่ายหัวหน้าเทคโนโลยี และการขัดแย้งในครั้งนี้ส่งผลให้ CTO เสนอต่อกรรมการบอร์ดผู้บริหารสั่งปลด Elon Musk ลงจากตำแหน่ง CEO โดยใช้โอกาสในช่วงที่ Elon Musk กำลังบินไปฮันนีมูนกับภรรยาที่ต่างประเทศซะเลย

บทเรียนที่ 5 ประสบการณ์เฉียดตายในระหว่างลาพักร้อน

ในระหว่างที่ Elon Musk ไปพักร้อนที่แอฟริกาใต้ เกิดมีอาการป่วยขึ้นมา เขาจึงไปทำการตรวจที่โรงพยาบาลแล้วก็พบว่า เขาเป็นโรค มาลาเรีย (Malaria) ในสมองมีภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้โอกาสเสียชีวิตสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะได้รับการรักษาเป็นอย่างดีก็ตาม โดยการป่วยในครั้งนี้ เขาใช้เวลาถึง 6 เดือนเต็มในการรักษาตัวและฟื้นตัวจากโรคนี้ และมีอาการซูบผอมเป็นอย่างมาก น้ำหนักเขาลดไปกว่า 45 ปอนด์ หรือประมาณ 20 กิโลกรัม

แต่นั่นก็ทำให้เขาเริ่มตระหนัก และช่วงเวลานั้นก็เป็นช่วงเสมือนชาร์ตแบตใหม่และทำให้เขามีสมาธิในการโฟกัสมากยิ่งขึ้น แต่การล้มป่วยในครั้งนั้น ก็ไม่สามารถทำลายจิตวิญญาณที่แกร่งกล้าของเขาในการที่จะทำเป้าหมายให้สำเร็จให้จงได้

โดย Elon Musk ได้โพสต์ประโยคขำ ๆ สไตล์เขาว่า “That’s my lesson for taking a vacation: vacation will kill you.” ที่แปลได้ว่า และนั่นก็คือบทเรียนที่ผมได้จากการไปพักร้อน นั่นก็คือ การพักร้อนอาจทำให้คุณตายได้.

บทเรียนที่ 6 สูญเสียลูกชายไปอย่างกระทันหัน

การได้เห็นเด็กสูญเสียเป็นสิ่งที่สะเทือนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะกับใครก็ตามที และเหตุการณ์นี้ก็สามารถเกิดขึ้นกับใครและเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเรื่องนี้เกิดขึ้นกับตัวของ Elon Musk ในปี 2002 ที่ได้มีลูกชายกับภรรยาคนแรก โดยตั้งชื่อลูกว่า Neveda Alexander แต่เขาก็จากไปด้วยโรค Sudden Infant Death Syndrome (SIDS) หรือโรคการเสียชีวิตเฉียบพลันในเด็กทารก ในวัย 10 สัปดาห์

และตัวของ Elon Musk เองก็ได้เฝ้าดูลูกชายของตัวเอง ที่ทางการแพทย์ตัดสินใจให้ถอดสายออกซิเจนออกจนสมองของเด็กน้อยหยุดทำงานไป ซึ่งเหตุการณ์นี้ Elon Musk ไม่เคยพูดถึงมันอีกเลย

บทเรียนที่ 7 ดีลล่มที่รัสเซีย

ในปี 2001 Elon Musk มีแนวคิดที่จะนำพืชพรรณบนโลกไปปลูกที่ดาวอังคาร โดยใช้ชื่อโปรเจคว่า ‘Mars Oasis’ ทันใดนั้นเอง เขากับผู้ติดตามอีกสองสามคนตัดสินใจบินไปที่ Moscow ประเทศรัสเซีย เพื่อไปติดต่อขอซื้อจรวดแบบ Intercontinental Ballistic Missile หรือ ICBM ที่เป็นขีปนาวุธทิ้งตัวพิสัยไกล เพื่อใช้บรรจุสิ่งของส่งไปในอวกาศ โดยเขาได้ติดต่อบริษัทในรัสเซียไปประมาณ 2 ถึง 3 แห่ง แต่ก็ถูกปฏิเสธทั้งหมด

แต่ Elon Musk ก็ยังไม่ยอมแพ้ หลังจากนั้น 6 เดือนผ่านไป เขากลับไปที่รัสเซียอีกครั้งในโปรเจคเดิม แต่ครั้งนี้ฝั่งของรัสเซียเสนอดีลในราคา 8 ล้านดอลล่าร์ฯ หรือราว ๆ 240 ล้านบาทต่อการปล่อยจรวด 1 ครั้ง ถึงกับทำให้ Elon Musk อุทานออกมาว่า ‘โคตรแพง’

และหลังจากที่เขาบินกลับมา Elon Musk จึงตัดสินใจที่จะสร้างบริษัทผลิตยานอวกาศขึ้นมาเองซะเลย และนั่นก็คือต้นกำเนิดที่มาของบริษัท SpaceX นั่นเอง

บทเรียนที่ 8 เกิดวิกฤตในบริษัท SpaceX

Elon Musk ก่อตั้งบริษัท SpaceX ในเดือนมิถุนายน ปี 2002 ด้วยจุดประสงค์หลักอยู่สองเรื่องก็คือ เรื่องแรก เขาต้องการทำให้ค่าใช้จ่ายในอุตสาหกรรมการขนส่งนั้นมีราคาถูก และอย่างที่สองก็แน่นอน คือการสร้างขึ้นมาเพื่อไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคาร

โดยเขาใช้เงินที่ได้จากการขายกิจการ Paypal ไปให้กับ Ebay ที่มีดีลสูงขึ้น 1,500 ล้านเหรียญฯ ซึ่งเขาได้รับส่วนแบ่งมาทั้งสิ้น 180 ล้านเหรียญฯ มาลงทุนใน SpaceX จำนวน 100 ล้านดอลล่าร์ฯ , ลงทุนใน Tesla Motors 70 ล้านเหรียญฯ และลงทุนใน SolarCity 10 ล้านเหรียญฯ เรียกได้ว่า เขาทุ่มหมดหน้าตักกันเลยทีเดียว

แต่แล้ว ความฝันสวยงามที่เขาเคยวาดเอาไว้ก็เกือบพังทลายอย่างรวดเร็ว เมื่อการทดสอบการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศล้มเหลวถึง 3 ครั้งรวด ตั้งแต่เปิดบริษัทมา และเงินทุนทั้งหมดที่เหลือ ก็สามารถใช้ปล่อยจรวดได้เพียงอีกครั้งเดียว ถ้าการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 นี้ล้มเหลว บริษัท SpaceX จะล้มละลายในทันที

แต่แล้วเหมือนโชคชะตาจะยังคงเข้าข้างเขาอยู่ เมื่อการปล่อยจรวดครั้งที่ 4 ประสบความสำเร็จอย่างสวยงาม ทำให้ SpaceX ได้รับดีลจากองค์การนาซ่า ที่มีดีลสูงถึง 1.6 พันล้านเหรียญฯ หรือราว ๆ 5 หมื่นล้านบาท เพราะโปรเจคของ SpaceX นั้น มีค่าใช้จ่ายในการปล่อยจรวดเพียง 1 ใน 3 ของบริษัทอื่น ๆ ในโลกที่ทำได้

บทเรียนที่ 9 เกิดวิกฤตในบริษัท Tesla

Elon Musk ได้ก่อตั้ง Tesla Motors ในปี 2003 โดยมีจุดประสงค์ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน โดยรถยนต์โมเดลรุ่นแรกที่ผลิตออกมาขายก็คือ Roadster ที่มีสมรรถนะที่สูง แต่ราคาไม่เป็นมิตรเอาซะเลย

และแล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อ Roadster กำลังเข้าสู่ไลน์การผลิต ด้วยการบริหารที่ไม่ดีพอของฝ่ายการผลิตทำให้ราคาขายปลีกพุ่งขึ้นสูงเป็น 2 เท่า ของราคาที่มันควรจะเป็น
แถมยังมีการบริหารกลยุทธ์ที่ผิดพลาดในการส่งมอบรถให้กับลูกค้าล่าช้ามากกว่า 1 ปี ทำให้ Tesla ตกอยู่ในวิกฤตทางเงินอย่างหนัก เสี่ยงต่อการปิดตัวลงเป็นอย่างมาก Elon Musk จึงต้องตัดสินใจระหว่างหยุดลงเพียงเท่านี้หรือไปต่อดี

และแล้วเขาก็ตัดสินใจที่จะไปต่อ ซึ่งในระหว่างที่เกิดวิกฤตการเงินของ Tesla ในช่วงนี้นี่เอง บริษัทซอร์แวร์ที่ Elon Musk เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่อย่าง Everdream ถูกเทคโอเวอร์ไปโดยบริษัท Dell ในราคา 120 ล้านเหรียญฯ Elon Musk จึงนำเงินมาลงทุนใน Tesla Motors เพิ่มอีก 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จึงทำให้ Tesla Motors รอดพ้นจากการล้มละลาย ได้อย่างหวุดหวิด

บทเรียนที่ 10 กล้าเดิมพันหมดหน้าตัก

ก่อนหน้านี้เราได้รู้ไปแล้วว่า Elon Musk นั้น แทนที่จะอยู่กินอย่างราชาหลังจากที่ขายบริษัท Paypal ได้เงินมาจำนวนมหาศาล แต่การกินอยู่อย่างราชาไม่ใช่เป้าหมายหลักของชีวิตของเขา เพราะเป้าหมายหลักของเขาก็คือ การไปตั้งอาณานิคมบนดาวอังคารให้ได้ภายในชาตินี้ ทำให้หลังจากที่เขานำเงินทั้งหมดที่ขายกิจการได้ไปลงทุนแบบหมดหน้าตัก จนต้องไปขอกู้ยืมเงินจากเพื่อนของเขาเพื่อกินอยู่มาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2009 และกู้ยืมเงินจากกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวนกว่า 465 ล้านเหรียญฯ

แถมในช่วงนั้นเขายังเจอปัญหาหย่าร้างกับภรรยามาสุมเป็นปัญหาให้หนักหัวเข้าไปอีก และในครั้งนี้ไม่มีเงินที่จะใช้ช่วยธุรกิจแบบครั้งก่อนที่ช่วย Tesla Motors จากการล้มละลายเอาไว้ได้อีกแล้ว

แต่ก็จากการที่เขาตัดสินใจช่วย Tesla Motors ในครั้งนั้น ในท้ายที่สุด มันก็ออกดอกออกผลอย่างงดงาม และสามารถชดเชยค่าเสียหายที่ผ่านมาทั้งหมดของเขาได้ เขาสามารถคืนเงินที่กู้มาจากกระทรวงพลังงานได้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย

โดย Elon Musk เคยกล่าวเอาไว้ว่า “Failure is an option here. If things are not failing, you are not innovating enough.” หมายถึง ความล้มเหลวคือตัวเลือกหนึ่งเดียวของที่นี่ เพราะถ้าหากไม่มีการล้มเหลว นั่นก็หมายถึงคุณยังไม่ได้สร้างนวัตกรรมที่มากพอ


และหากคุณเริ่มซีเรียสและจริงจังกับการเรียนรู้จากคนที่ร่ำรวยและประสบความสำเร็จอย่างสูง วันนี้คุณสามารถเข้าถึงข้อมูลพรีเมี่ยมคอนเท้นต์ได้แล้วบน Blue O’Clock Academy ใน ซีรี่ย์ Top 10 Mentors : 10 สุดยอดบทเรียนจากมหาเศรษฐีรุ่นพี่สอนว่าที่มหาเศรษฐีรุ่นน้องคนต่อไป โดยคุณสามารถลงทะเบียนได้ในราคาพิเศษตามรายละเอียดที่ลิงค์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ – http://bit.ly/top10mentors

Resources